View Full Version : ด้านมืดของอรชุน
เดิมที ผมคิดจะเก็บเรื่องนี้เอาไว้เตือนใจตัวเอง
แต่เมื่อได้เห็นกระทู้ "หนูถูกหาว่า..." ของครอบครัวเพนกวิ้นแล้ว
ผมก็อยากจะเผยแพร่ต่อให้ผู้ที่ กระหายชัยชนะ ชื่อเสียง ความเป็นที่หนึ่ง
หรือท่านที่หลงเข้ามาอ่านกระทู้นี้ ได้ลองกรึกกรองดูกันครับ
เนื้อเรื่องอาจจะยืดยาดไม่กระชับ ไม่เร้าใจตบจูบๆ เหมือนนิยายสมัยใหม่
แต่เมื่อลองศึกษาแล้วน่าจะมีประโยชน์บ้าง
ปล. ถ้าตอนไหนผมเล่าผิดเพี้ยนพลาดไป ขอให้ อ.แย้ป ทักท้วงด้วยนะครับ
เรื่องที่จะเล่านี้เป็นตำนานเก่าแก่บุราณกาลของชมภูทวีป
นั่นคือเรื่องราวส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ
ในส่วนที่เกียวข้องกับท้าวอรชุน ๑ ในพี่น้องตระกูลปาณฑพทั้ง ๕
ขออนุญาตท้าวความถึงกำเนิดของพี่น้องปาณฑพ ผู้บุตรแห่งท้าวปาณฑุ
กับศัตรูคู่แค้นคือฝ่ายพี่น้องเการพ ผู้บุตรแห่งท้าวธฤตราษฎร์
ทั้งสองฝ่ายนี้ต่างก็สืบสายมาจากท้าวภรตมหาราช(ต้นกำเนิดของชื่อชนชาติภารตะ)เช่นเดียวกัน
เนื่องจากท้าวปาณฑุกับท้าวธฤตราษฎร์เป็นพี่น้องต่างมารดากัน
จากความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายก่อให้เกิดตำนานสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชมภูทวีป
ไม่แพ้ตำนานศึกสงครามระหว่างพันธมิตรเอเธนส์ กับนครโทรจัน
เกี่ยวพันไปจนถึงเทพเทวาที่มามีส่วนร่วมศึกคล้ายกัน
HELLBOY
23-11-12, 12:01 AM
เจ๋ง!
นั่งหน้าจอรออ่านอยู่นะครับพี่ :2TU:
อย่างที่อ้างถึงไว้ในความเห็นที่แล้ว
กล่าวคือพี่น้องปาณฑพและเการพเป็นราชวงศ์เดียวกัน และต่างก็มีวัยใกล้เคียงกัน
เพราะพวกปาณฑพมีพี่น้อง ๕ คน ต่างก็เป็นลูกเทวดา มารดาไม่เสียเวลาตั้งท้องนาน
ส่วนพวกเการพนั่นยิ่งกว่าครับ ถือกำเนิดจากท้าวธฤตราษฎร์กับพระนางคานธารี
โดยนางคานธารี คลอดออกมาเป็นก้อนเนื้อก้อนใหญ่
พระฤๅษีได้แบ่งก้อนเนื้อนั้นออกเป็นชิ้นเนื้อ ๑๐๐ ชิ้นกับเศษก้อนเล็กอีก ๑ ชิ้น ใส่ลงในหม้อน้ำมันเนยใสทำพิธีไป
จากนั้นก็เกิดเป็นเจ้าชายทุรโยธน์พี่ใหญ่ของเการพ กับน้องชายอีก ๙๙ คน และน้องสาวอีก ๑ คน
รวมเป็นพี่น้องฝ่ายเการพ ๑๐๑ คน
นั่นอาจเป็นหลักการโคลนนิ่งครั้งแรกของโลกก็ได้ครับ
ในวัยเด็กทั้งปาณฑพและเการพต่างก็อาศัยอยู่ในนครหัสตินาปุระ
นครหัสตินาปุระนี้หลังจากท้าวปาณฑุผู้เป็นบิดาของฝ่ายปาณฑพสิ้นชีพ
ก็มีท้าวธฤตราษฎร์บิดาของฝ่ายเการพ และเป็นพี่น้องต่างมารดาของท้าวปาณฑุเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งกรุงหัสตินาปุระ
โดยมีท้าวภีษมะ ผู้มีศักดิ์เป็นพระอัยกา(ปู่) ของทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพ คอยช่วยเหลือ
(ท้าวภีษมะเคยสาบานไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่ง เอ๊ย...ราชสมบัติ จึงให้ลูกหลานครองแทนโดยตนเองคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง)
เจ้าชายของทั้งสองตระกูลจึงได้รับการอบรมเลี้ยงดูเติบโตมาด้วยกัน
หลังจากเจ้าชายทั้งสองตระกูลเติบโตขึ้นและได้ร่ำเรียนวิชาพื้นฐานเบื้องต้นเจนจบแล้ว
ตามธรรมเนียมของคนวรรณกษัตริย์ก็ย่อมจะต้องแสวงหาวิชาการรบขั้นสูงคือวิชาธนุรเวท
แต่ก็ยังหายอดฝีมือที่เหมาะสมมาสอนไม่ได้
จนกระทั่งวันหนึ่ง
ระหว่างที่บรรดาเจ้าชายเล่นลูกคลีกันอยู่ ลูกคลีเกิดพลัดตกบ่อน้ำ
ขณะนั้นมีพราหมณ์ผู้หนึ่งเดินฝ่านมา เหล่าเจ้าชายก็ไปร้องขอให้พราหมณ์ช่วยเก็บลูกคลีให้
พราหมณ์ผู้นั้นก็ใช้ธนูยิงลูกศรไปปักที่ลูกคลีในน้ำ แล้วใช้ธนูยิงลูกศรลูกต่อๆ มาปักท้ายศรลูกแรกต่อเนื่องกัน
จนสามารถสาวเอาลูกคลีขึ้นจากบ่อได้ด้วยไม่เส้ายาวที่ทำด้วยลูกศรนั่น
ครั้นเหล่าเจ้าชายกลับไปถึงวังก็เข้าไปกราบทูลท้าวภีษมะผู้เป็นพระอัยกา (ปู่)
ท้าวภีษมะก็ทราบทันทีว่าพราหมณ์ผู้นั้นต้องเป็น "โทรณาจารย์" ผู้เลื่องชื่อว่าเชี่ยวชาญวิชาการรบ
จึงให้ไปเชิญโทรณาจารย์มาเป็นอาจารย์สอนเหล่าเจ้าชายทั้งปาณฑพและเการพ
ระหว่างที่บรรดาพี่น้องปาณฑพและเการพเรียนวิชากับโทรณาจารย์อยู่นี้ขออนุญาตกล่าวถึงตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่ง
นั่นคือ กรรณะ หรือเดิมชื่อ ราธียะ
ราธียะเป็นบุตรคนโตของพระนางกุนตี มารดาของพี่น้องปาณฑพทั้ง ๕ แต่ไม่ได้เป็นบุตรของท้าวปาณฑุ
เนื่องจากนางกุนตีได้รับมนต์วิเศษสามารถอัญเชิญเทพเทวดามาประทานบุตรให้ตนได้
เมื่อแรกได้รับมนต์นั้นมา นางได้ทดลองเชิญองค์สุริยเทพลงมา
แม้นางจะทูลว่าเป็นการทดลองมนต์ แต่สุริยเทพบอกกับนางว่ามนต์นี้เป็นมนต์พิเศษเชิญเทพมาแล้วจะต้องได้บุตรเปลี่ยนใจไม่ได้
นางกุนตีจึงตั้งท้องและคลอดบุตรออกมาเป็นชาย มีเกราะห่อหุ้มร่างกายติดตัวมาแต่แรกเกิดเพราะเป็นบุตรของเทพนักรบ
ด้วยความอาย (ตอนนั้นนางยังไม่ได้สยุมพรแต่งงานกับท้าวปาณฑุ) นางจึงนำเด็กใส่ตระกร้าลอยน้ำไป
เด็กคนนั้นถูกสารถีเก็บไปเลี้ยงและตั้งชื่อว่า ราธียะ (นางกุนตีก็รู้ดีแต่ไม่กล้าบอกใคร)
ต่อมาเมื่อนางกุนตีได้สยุมพรกับท้าวปาณฑุซึ่งมีคำสาปติดตัวมา
เนื่องจากท้าวปาณฑุเคยยิงกวางผัวเมียที่กำลังสมสู่กันอยู่
ปรากฏว่ากวางนั้นเป็นฤๅษีแปลงมาจึงโดนสาปว่า เมื่อใดที่ท้าวปาณฑุสมสู่กับภรรยา ท้าวเธอจะมีอันเป็นไป
ท้าวปาณฑุจึงไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
นางกุนตีจึงแก้ไขสถานการณ์ด้วยการกราบทูลว่านางมีมนต์วิเศษ อัญเชิญเหล่าเทพมาประทานบุตรได้
ท้าวปาณฑุอนุญาตจึงเกิดเป็น
ยุธิษฐิระ นางกุนตีอัญเชิญพระธรรมเทพมาประทานโอรส
ภีมะ นางกุนตีอัญเชิญพระพายมาประทานโอรส
อรชุน นางกุนตีอัญเชิญพระอินทร์มาประทานโอรส
ครั้นนางมาทรีภรรยารองของท้าวปาณฑุทราบ ก็อ้อนวอนขอเรียนมนต์วิเศษบ้าง นางกุนตีสอนให้จึงเกิดเป็น
นกุล นางมาทรีอัญเชิญเทพนาสัตยอัศวินมาประทานโอรส เป็นฝาแฝดกับ สหเทพ
สหเทพ นางมาทรีอัญเชิญเทพทัศรอัศวินมาประทานโอรส เป็นฝาแฝดกับ นกุล
(ตำราอินเดียนั้น พระอัศวินเป็นเทวดาฝาแฝดสององค์ กายเป็นเทพศีรษะเป็นม้า
แต่พอมาถึงไทยเราบางที่ก็ให้พระอัศวินมีกายท่อนล่างเป็นม้าท่อนบนเป็นเทพ คล้ายเซ็นทอร์ แต่ที่เหมือนกันทั้งแขกไทยคือเป็นเทพครึ่งม้าครับ)
ดังนั้น จึงถือได้ว่า ราธียะ หรือกรรณะ เป็นพี่ชายต่างบิดา(ที่ไม่มีใครรู้นอกจากนางกุนตี)ของบรรดาพี่น้องปาณฑพ
เมื่อราธียะคนนี้เติบโตขึ้นในบ้านของนายสารถี จึงได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเหล่าเจ้าชายที่มีวัยใกล้กัน
ครั้นโทรณาจารย์ได้เข้ามาเป็นอาจารย์สอนพระกุมาร ราธียะก็ขอเข้ามาเป็นศิษย์ด้วยแต่ถูกโทรณาจารย์ปฏิเสธ เพราะราธียะไม่ได้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ (รับแต่เด็กเส้น)
ราธียะจึงแสวงหาอาจารย์คนใหม่ที่ดูท่าก็น่าจะเก่งกว่าโทรณาจารย์ โดยไปเป็นศิษย์ของฤๅษีปรศุราม
ผู้ที่ขึ้นชื่อว่ามีฝีมือการรบกล้าแข็งที่สุด และที่สำคัญคือ "เกลียดคนวรรณะกษัตริย์ที่สุด" (คิดว่ามาถูกทางแล้ว)
แต่ก็เกิดเรื่องจนได้
นั่นคือวันหนึ่ง ระหว่างที่ฤๅษีปรศุรามนอนหลับหนุนตักราธียะอยู่ มีแมลงตัวหนึ่งมากัดราธียะ
ราธียะก็ไม่กล้าตบเพราะกลัวอาจารย์ตื่นจึงอดทนไว้
แต่บังเอิญว่าเลือดของราธียะที่ถูกแมลงกัดกระเด็นมาโดนหน้าของฤๅษีปรศุราม
ฤๅษีปรศุรามตื่นขึ้นมาเห็นจึงรู้ว่าแท้จริงแล้วราธียะเป็นคนวรณณะกษัตริย์
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะนิสัยคนวรณะกษัตริย์ทนความเจ็บปวดได้ดีกว่าคนวรรณะอื่น
หรือเพราะว่าฤๅษีปรศุรามคุ้นชินแยกกลิ่นคาวเลือดของคนวรณะกษัตริย์ได้
แต่สรุปคือ ความซวย บังเกิด
ราธียะถูกฤๅษีปรศุรามสาป ให้ลืมวิชาทั้งหมดที่ร่ำเรียนมา ในเวลาที่ราธียะจำเป็นต้องใช้มากที่สุด
เรื่องที่น่าสนใจของราธียะยังไม่หมดครับ
ขอกล่าวถึงที่มาของชื่อ กรรณะ ไว้สักเล็กน้อยโดยย่อ
คือว่ากันว่า พระอิทร์ผู้เป็นบิดาของอรชุนได้แปลงกายลงมาขอเกราะที่ติดตัวราธียะมาตั้งแต่เกิดไปให้ลูกชายคืออรชุน
ราธียะก็ให้ไป โดยแลกกับอาวุธวิเศษชื่อศักติ เพราะพระสุริยะเทพบิดาของราธียะก็แอบมาสอนไว้ก่อนแล้วว่าให้ก็ได้แต่ต้องขอของแลกเปลี่ยน (แสบพอกัน)
ตั้งแต่นั้นมาราธียะจึงได้ชื่อว่า กรรณะ ซึ่งหมายถึงผู้ตัดเกราะ(ออกจากร่างกาย)
ซึ่งกรรณะผู้นี้มีบทบาทในการรบสงครามกุรุเกษตร และเป็นผู้ที่มีส่วนแสดงให้เห็นด้านมืดของอรชุนอีกด้วย
ติดตามต่อไปนะครับ
นำท่านกลับมายังพระราชวังหัสตินาปุระ
โทรณาจารย์สอนวิชาการรบต่างๆ ให้แก่เหล่าพระกุมาร
ซึ่งต่างก็มีความถนัดในแต่ละวิชาต่างกันไป
แต่สุดยอดวิชาของโทรณาจารย์ คือวิชายิงธนู
ซึ่งก็มีศิษย์เพียวผู้เดียวที่เป็นความภูมิใจรับการถ่ายทอดไว้ได้หมด นั่นคืออรชุน เจ้าชายฝ่ายปาณฑพ
โทรณาจารย์เคยเอาเป้า (3D) รูปนกไปติดอยู่บนต้นไม้ที่อยู่ไกลลิบ แล้วตั้งคำถามลูกศิษย์แต่ละคนว่า "เห็นอะไร"
คำตอบของลูกศิษย์เกือบทุกคนเกือบเหมือนกันหมดคือ
บ้างก็ว่า "เห็นต้นไม้แต่มองหานกไม่เห็น" หรืออย่างดีก็ว่า "เห็นนกอยู่บนต้นไม้"
ซึ่งโทรณาจารย์ฟังแล้วก็ยังไม่พอใจ จนมาถึงอรชุน
อรชุนตอบว่า "เมื่อแรกข้าพเจ้าเห็นต้นไม้ ต่อมาข้าพเจ้าเห็นนกบนต้นไม้ จากนั้นข้าพเจ้าเห็นแต่ตัวนก และสุดท้ายข้าพเจ้าก็ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากเห็นแต่หัวของนกนั่น" (ไม่ได้บอกว่านกนั่นอยู่ในระยะกี่เมตรเหมือน 3D นะครับ)
โทรณาจารย์พอใจมากถึงกับส่ายหน้า (แขกส่ายหน้าแปลว่ายอมรับ) และให้อรชุนยิงได้
ทันใดนั้นหัวของเป้านกก็ตกลงสู่พื้นดิน (เป้าพังเลย ไม่รู้ว่าโทรณาจารย์ต้องสั่งเป้านก 3D จากอเมริกามาใช้สอนลูกศิษย์ใหม่หรือเปล่า)
แม้อรชุนจะเป็นศิษย์คนโปรด
แต่ศิษย์สุดที่รักของโทรณาจารย์คือ อัศวัตถามา บุตรชายของโทรณาจารย์เอง
ถึงตอนนี้ ด้านมืดของอรชุนกำลังจะเผยให้เห็นเป็นครั้งแรกแล้วครับ
หลายๆ ท่านคงรู้จักชื่ออรชุนใช่ไหมครับ
ทราบใช่ไหมครับว่าอรชุนเป็นนักยิงธนูที่เก่งที่สุดในมหากาพย์มหาภารตะ
อรชุนกลายเป็นขวัญใจของใครหลายๆ คนในด้านความเก่งกาจ
แล้วท่านทราบไหมครับว่าทำไมถึงไม่มีใครสู้อรชุนได้
ถ้าอยากรู้ก็ตามผมมาครับ
ที่อรชุนเป็นแชมป์ได้ ต้องเริ่มท้าวความตั้งแต่อาจารย์เลย
โทรณาจารย์แกมีปมเรื่องความยากจนครับ
ตอนวัยรุ่นเรียนวิชาอยู่มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งชื่อเจ้าชายทุรปัท
ตอนหลังเรียนจบแล้วก็แยกย้ายกันไป โทรณาจารย์แต่งงานมีลูก
แต่ก็ยากจนมากขนาดที่ว่าไม่มีเงินซื้อนมมาให้ลูกกิน
ประจวบกับได้ข่าวว่าท้าวทุรปัทได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าแคว้นจึงตัดสินใจเดินทางไปหา
แต่คราวเคราะห์ของท้าวทุรปัทที่จะได้ก่อเวรกับโทรณาจารย์
ท้าวทุรปัททำเป็นจำเพื่อนจนๆ คนนี้ไม่ได้ แถมยังให้ทหารไล่ออกจากเมือง
โทรณาจารย์เคยรักเพื่อนคนนี้มาก ยิ่งรักก็ยิ่งแค้น จึงปฏิญาณที่จะกลับมาแก้แค้นให้ได้
แต่ลำพังพราหมณ์จนๆ จะทำอะไรได้
โทรณาจารย์เริ่มเดินหมากโดยการเข้าไปเป็นอาจารย์สอนเจ้าชายตระกูลปาณฑพและเการพ
เจ้าชายแห่งหัสตินาปุระ เมืองที่ได้ชื่อว่าเข้มแข็งที่สุดในชมภูทวีป
เพราะธรรมเนียมนักรบฮินดูโบราณมีอยู่ว่า
เมื่อสำเร็จการศึกษา อาจารย์มีสิทธิเรียกร้อง "คุรุทักษิณา" คือสิ่งตอบแทนจากลูกศิษย์โดยให้ลูกศิษย์ทำงานให้ตนได้ ๑ อย่าง
เป็นที่คาดเดาได้ว่าในงานสำเร็จการศึกษา สิ่งที่โทรณาจารย์เรียกร้องจากเหล่าเจ้าชายศิษย์ของตนคือ
ขอให้จับตัวท้าวทุรปัทมาสยบแทบเท้าตน
และแน่นอน ศิษย์คนโปรดอย่างอรชุนก็ไม่ได้ทำให้โทรณาจารย์ผิดหวัง
และนี่อาจเป็นอีก ๑ สาเหตุ ที่ทำให้โทรณาจารย์เลือกลูกศิษย์
คือไม่ได้ต้องการแต่ลูกศิษย์เก่งๆ (ไม่อย่างนั้นคงรับกรรณะเป็นศิษย์ด้วยแล้ว)
แต่ต้องการลูกศิษย์ที่มีพลังสนับสนุนผลักดันในสิ่งที่ตนเองต้องการได้ในที่สุด
ผ่านมาอีก ๑ ความเห็น
รับรองว่าความเห็นหน้าจะแสดงด้านมืดของอรชุนจริงๆ ครับ
คราวนี้รับรองว่าจะไม่ยืดออกนอกเรื่องไปมากอีกแล้วครับ
มาว่ากันเรื่องการเรียนสุดยอดวิชาของอรชุนกันเลย
อย่างที่กล่าวเกริ่นไว้แล้วว่าโทรณาจารย์มีลูกชายสุดที่รักชื่อ อัศวัตถามา
โทรณาจารย์รักดังแก้วตาดวงใจ และเฝ้าสอนเพื่อหวังให้อัศวัตถามาได้เป็นนักรบเลื่องชื่อ
เมื่ออรชุนระแคะระคายว่าโทรณาจารย์แอบสอนวิชาติวตัวต่อตัวให้อัศวัตถามา
อรชุนจึงเข้าไปพบโทรณาจารย์ และขอเรียนวิชาขั้นสุดยอดกับโทรณาจารย์
โดย "ขอคำมั่นสัญญาว่า โทรณาจารย์จะไม่สอนวิชาลับนี้กับใครได้รู้อีกนอกจากอรชุนเอง"
ไม่ทราบว่าด้วยความที่อรชุนเป็นคนโปรด หรือด้วยความที่โทรณาจารย์หวังพึ่งกำลังทัพของอรชุน โทรณาจารย์จึงลั่นวาจาให้สัญญานั้น
อัศวัตถามาจึงไม่อาจได้เรียนวิชาขั้นสูงสุดยอดของพ่อตัวเอง ความสามารถในการยิงธนูจึงไม่มีทางเทียบเท่าอรชุนได้ "ตลอดชีวิต"
ดังนี้ เท่ากับอรชุนตัดคู่แข่งคนแรกคืออัศวัตถามาออกจากเส้นทางไปอย่างนุ่มนวล
ในการเลือกเหยื่อรายต่อมา อรชุนเริ่มโหดเหี้ยมมากขึ้นครับ
กล่าวคือ มีลูกชายหัวหน้าเผ่าพรานเร่ร่อนล่าสัตว์คนหนึ่งชื่อ "เอกลัพย์" มาขอให้โทรณาจารย์สอนยิงธนูให้
โทรณาจารย์ปฏิเสธไปเพราะเอ่ยปากคำสัตย์กับอรชุนไว้แล้ว
ก็ขนาดลูกชายยังสอนไม่ได้ แล้วไอ้หมอนี่เป็นใคร
เอกลัพย์กราบลาโทรณาจารย์เข้าป่าไปแต่ก็ไม่ย่อท้อ
ด้วยความเป็นคนที่มีพรสวรรค์ เอกลัพย์ฝึกยิงธนูด้วยตนเองอยู่กับบ้าน เอ๊ยยย... อยู่ในป่าคนเดียวจนเก่งกาจ
โดยเอกลัพย์ได้ปั้นรูปโทรณาจารย์ไว้บูชาเป็นกำลังใจ และเคารพนับถือว่าโทรณาจารย์นั้นเป็นอาจารย์ตน (ทั้งที่ไม่เคยได้รับคำแนะนำ)
อยู่มาวันหนึ่งระหว่างที่เอกลัพย์ฝึกซ้อมอยู่เกิดมีคนคนหนึ่งผ่านมาเห็นเข้า
ร้อยคนเห็นพันคนรู้ยังไม่เป็นไร แต่เคราะห์หามยามร้ายคนที่เห็นดันเป็นอรชุน
อรชุนเห็นฝีมือของเอกลัพย์แล้วก็รู้สึกหวั่นไหว รู้ดีว่าอีกไม่นานไอ้เด็กคนนี้น่าจะเก่งเท่า หรืออาจจะเก่งกว่าตน
อรชุนจึงอุบายเข้าไปตีสนิท หลอกถามเอกลัพย์ว่าเรียนวิชายิงธนูมาจากใคร
เอกลัพย์ใสซื่อก็เลยชี้ไปที่รูปปั้นโทรณาจารย์
เท่านั้นแหละครับ อรชุนโกรธจัดรีบแล่นไปหาโทรณาจารย์ทันที
แล้วทักทวงถามสัญญาว่า "จะไม่สอนใครที่ไหนอื่นอีก"
โทรณาจารย์ปฏิเสธแล้วสอบถามรายละเอียด อรชุนก็เล่าให้ฟังพร้อมทั้ง "ยื่นคำขาดให้โทรณาจารย์ดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา"
โทรณาจารย์จึงเดินทางมาพบเอกลัพย์ แล้วถามว่า เอกลัพย์นับถือตนเป็นอาจารย์จริงหรือ
เอกลัพย์ประหม่าเพราะรู้สึกว่าโทรณาจารย์ที่เป็นไอดอลของตนมาปรากฏตัวต่อหน้า
แถมยังตั้งคำถามที่คลับคล้ายกับว่าจะยอมรับตนเป็นศิษย์ เอกลัพย์จึงรีบตอบไปว่า ถือโทรณาจารย์เป็นอาจารย์ของตน (โดยมีรูปปั้นเป็นหลักฐานของกลาง)
โทรณาจารย์มีใบหน้าเคร่งเครียดก่อนจะพูดขึ้นว่า "รู้ใช่ไหมว่าอาจารย์มีสิทธิเรียกร้องให้ศิษย์ทำอะไรให้ก็ได้ ๑ อย่าง"
เอกลัพย์รับว่ารู้ โทรณาจารย์จึงเอ่ยปากออกมาว่า "จงตัดนิ้วหัวแม่มือขวาของเจ้าออกมาเป็นคุรุทักษิณา ณ บัดนี้"
ก็ไม่รู้ว่าเอกลัพย์ซื่อเกินไปหรือโดนบีบบังคับอย่างไร
แต่นับจากนั้นก็ไม่มีนักยิงธนูที่ชื่อเอกลัพย์อีกเลย เป็นไปตามความต้องการของอรชุนครับ
แต่เดิมอาจมีผู้ที่ทราบว่าอรชุนรบชนะท้าวภีษมะปู่ของตนเอง ผู้ที่ได้ชื่อว่า "นักรบอมตะ"
และสามารถสังหารกรรณะพี่ชายของตนเอง ผู้ที่ว่ากันว่า "อาจจะเป็นคนเดียวที่พอจะมีฝีมือยิงธนูสู้กับอรชุนได้"
เหตุการณ์ที่อรชุนใช้อุบายสกปรกเล่นงานท้าวภีษมะ
และไม่มีใจนักกีฬาขาดความสง่างามในการสังหารกรรณะในขณะที่กรรณะไม่มีทางสู้เพราะต้องลงมาเข็นรถศึกที่ล้อติดหล่ม (ไม่มีวินซ์)
รายละเอียดโดยย่อมีดังนี้ครับ
กรณีท้าวภีษมะ
ในสงครามกุรุเกษตร ท้าวภีษมะในฐานะอัศวินอมตะผู้ปกป้องหัสตินาปุระต้องรับหน้าที่จอมทัพฝ่ายเการพ
ภีษมะผู้เฒ่าทำการรบอย่างห้าวหาญสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายปาณฑพเป็นอย่างมาก
ในวันถัดมาจึงมีการวางแผนสังหารภีษมะโดยอรชุนให้พี่เมียที่ชื่อศิขัณฑินออกรบนำหน้า โดยที่ตนเองแอบอยู่ด้านหลัง
ศิขัณฑินนี้เป็นเจ้าฉิงเมืองปัญจาละ คือเป็นลูกของท้าวทุรปัทคู่แค้นของโทรณาจารย์นั่นแหละครับ
ที่พิเศษคือศิขัณฑินเป็น "บัณเฑาะว์" (กระเทย) ครับ
เพราะอรชุนรู้ดีว่าท้าวภีษมะเป็นนักรบฮินดูโบราณที่ยึดถือประเพณีเคร่งครัดมาก
คือนักรบวรรณะกษัตริย์ที่เคร่งครัดจะไม่ทำการรบหลังตะวันตกดิน และที่สำคัญคือไม่รบกับผู้หญิง หรือแม้แต่บัณเฑาะว์ครับ
อรชุนรู้จุดอ่อนข้อนี้ของเสด็จปู่ภีษมะดี อรชุนจึงให้ศิขัณฑินออกหน้า
ได้ผลครับ ท้าวภีษมะพอเห็นว่าคนที่อยู่หน้ารถศึกของตนเป็นบัณเฑาะว์ ภีษมะก็ลดอาวุธลงไม่ยอมยิงธนูมาทางนั้น
จึงเป็นการเปิดช่องให้อรชุนที่แอบอยู่หลังศิขัณฑินได้ยิงท้าวภีษมะเล่นเอาตามชอบใจ
จนกระทั่งร่างกายของภีษมะพรุนเต็มไปด้วยลูกศร ตั้งแต่หัวจรดเท้า แม้ล้มลงร่างกายก็ไม่ตกถึงพื้นเพราะติดลูกธนูที่ค้ำอยู่
ในศึกนี้จึงมีศัพท์เรียกลูกธนูที่ปักร่างของภีษมะว่า "เตียงลูกศร"
เห็นความเก่งกล้าในการรบของอรชุนหรือยังครับ
ใช้วิชามารเอาชนะคนแก่ได้ "แมนมาก"
ส่วนกรณีของกรรณะ ก็ไม่มีอะไรมาก
ในสนามรบ ทั้งอรชุนและกรรณะต่างก็มีฝีมือใกล้เคียงกัน
หรือจะบอกว่ากรรณะเกือบจะเหนือกว่า
เพราะในการรบ กรรณะได้โอกาสยิงลูกศรใส่อรชุนจนเกือบตาย
แต่เพราะพระกฤษณะที่ทำหน้าที่สารถีให้กับอรชุนใช้พละกำลังความสามารถช่วยไว้
โดยดึงเบรคมือห้ามล้อกระทันหันจนล้อรถศึกของอรชุนจมลงไปในพื้นดินหลายคืบ
ลูกธนูที่กรรณะยิงใส่อรชุนจึงกินสูง พุ่งเลยเฉียดศีรษะอรชุนไปเพียงไม่กี่นิ้ว
จนกระทั่งความอาภัพ(ซวย)ได้บังเกิดกับกรรณะอีกครั้งหนึ่ง
ล้อรถศึกของกรรณะเกิดติดหล่ม เมื่อรถศึกเคลื่อนที่ไม่ได้ก็กลายเป็นเป้านิ่ง
กรรณะจึงยกมือทำสัญญาณขอเวลานอกให้อรชุนหยุดยิงก่อน
แล้วกรรณะก็กระโดดลงไปช่วยสารถีของตนเข็นให้ล้อรถขึ้นจากหล่ม (รถสมัยนั้นคงไม่ได้ติดตั้งวินซ์)
อรชุนเห็นได้โอกาสเพราะฝีมือกรรณะไม่ใช่ย่อย ถึงแม้ว่าสุดท้ายยาวๆ แล้วอรชุนอาจเหนือกว่านิดๆ
แต่ก็คู่คี่สูสี สู้ไปอรชุนก็คงเหนื่อยหมดกำลังสู้กับคนอื่น หรืออาจมีโอกาสพลาดเหมือนที่ว่ามาเมื่อสักครู่
ดังนั้น ระหว่างที่กรรณะมัวแต่ก้มหน้าก้มตาเข็นรถเพลินอยู่ อรชุนจึงเผลอทำธนูลั่นใส่ศีรษะของกรรณะ อุ๊บสสส์...
สมดังคำสาปของปรศุรามอาจารย์ของกรรณะที่ว่าในช่วงคับขันที่สุดขอให้กรรณะลืมวิชาทั้งหมด
กรรณะก็คงลืมจริงๆ ครับ ถ้าหากว่าสิ่งที่ปรศุรามสอนไว้คือ "อย่าได้เชื่อใจคนที่ตีหน้าซื่อ ทำตัวเป็นสุภาพบุรุษ แต่ก็สามารถทำทุกอย่างได้เพื่อชัยชนะอย่างอรชุน"
หมดแค่นี้ก่อนนะครับ
ใครอ่านแล้วได้อะไรไปคิดผมก็ยินดีด้วย
ใครที่อ่านแล้วไม่คิดอะไรก็นึกเสียว่าอ่านเล่นสนุกๆ นะครับ
ขอบคุณครับ
Tom & Jerry
23-11-12, 06:53 AM
สนุกและย่นย่อเวลาอ่านเองสามเดือนเหลือสิบนาที
บวกด้วยข้อคิดดีๆ ขอบคุณมากครับ
:2TU: ขอบคุณครับ ทั้งได้แง่คิดทั้งสนุก :2TU:
FredBob
23-11-12, 10:19 AM
มีด้านดีหรือด้านสว่างหรือเปล่าครับสำหรับอรชุน
มีด้านดีหรือด้านสว่างหรือเปล่าครับสำหรับอรชุน
มีเยอะมากครับ หากสนใจเรื่องราวฉบับเต็ม
สามารถหาอ่านได้จาก หนังสือภควัตคีตา และมหากาพย์มหาภารตะ
หรือจะดูเวอร์ชั่นการ์ตูน ของวอลท์ ดิสนีย์ ก็เพ่อมีทำออกมา
แต่ก็อย่างที่ผมเกริ่นนำไว้คือ
คนส่วนใหญ่รู้จักกันแต่ด้านที่ดีงามของอรชุน
อยากรบเก่ง ยิงธนูได้เก่ง มีเสน่ห์์ เท่สมาร์ทอย่างอรชุน
แต่ที่คนไม่ค่อยพูดถึงกันคือด้านมืด ที่มาของชัยชนะ
ซึ่งถ้าถามผมว่าอรชุนผิดไหม
ผมตอบได้เต็มปากเลยครับว่า "ไม่ผิด"
ทั้งขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม แบบแผนการรบ ของเขาในยุคสมัยนั้น
สิ่งที่อรชุนทำเป็นเรื่องที่สมควรกระทำและเป็นแบบอย่างของวีรบุรุษในยุคนั้นครับ
หรือหากจะให้ผมเปรียบเทียบก็คือ
ถ้าเราเป็นเด็กยุคใหม่ไอที มองเห็นคนรุ่นคุณปู่คุณตาเล่นเครื่องลายคราม เราก็อาจจะมองว่า "กระเบื้องถ้วย กะลาแตก" ไร้สาระ
แต่ในทางกลับกันคนรุ่นเก่าก็อาจจะมองเราว่า "ไม่มีรสนิยม" ครับ
FredBob
23-11-12, 12:52 PM
ขอบคุณครับ ซักวันอาจมีโอกาสได้อ่าน
คุณแวบมาสะกด ไล่เลี่ย ผิดเป็น ไล่เรี่ย น่ะครับ ในความเห็น #4 ปกติผมจะไม่ทักใครเรื่องแบบนี้ แต่เห็นคุณแวบมาค่อนข้างเคร่งกับเรื่องการใข้คำภาษาไทยที่ถูกต้อง เลยไม่แน่ใจว่าพิมพ์ผิดหรือนึกว่าสะกดแบบนี้จริงๆ
ขอบคุณครับ ซักวันอาจมีโอกาสได้อ่าน
คุณแวบมาสะกด ไล่เลี่ย ผิดเป็น ไล่เรี่ย น่ะครับ ในความเห็น #4 ปกติผมจะไม่ทักใครเรื่องแบบนี้ แต่เห็นคุณแวบมาค่อนข้างเคร่งกับเรื่องการใข้คำภาษาไทยที่ถูกต้อง เลยไม่แน่ใจว่าพิมพ์ผิดหรือนึกว่าสะกดแบบนี้จริงๆ
ขอบคุณครับ มีตรงไหนที่ผิดพลาดอีกรบกวนเตือนด้วยนะครับ
เมื่อคืนพลาดไปจริงๆ
ดึกแล้ว น่าจะกำลังมึนๆ :p
แต่เผลอขึ้นกระทู้ไปแล้วก็ต้องฝืนลากจนจบ
เพราะกลัวกลับมาใหม่แล้วลืมว่าจะเขียนอะไร
เดี๋ยวนี้เริ่มเป็นอัลไซเมอร์ สมองปลาทองครับ
ปล. เดี๋ยวนี้ทำใจได้ไม่ค่อยอยากเคร่งกับคนที่ไม่ต้องการเคร่งครับ
แบกถ่านดำกลางหิมะ ก็จะกลายเป็นว่าแปลกแยกจากคนที่อยาก "แนว"
ดีครับสารวัตรชอบมากเลย โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ผมว่าเป็นอะไรที่คนสมัยนี้ หรือการศึกษาสมัยนี้ไม่ค่อยเน้น ผมว่าสารวัตรเป็นคนที่ศึกษาเรื่องนี้แบบจริงจังรู้ลึกสามารถอ้างอิงได้ อย่างน้อยถ้ามีเวลาผมอยากให้สารวัตรช่วยเขียนมาแบ่งให้ชาวรอบกองไฟได้อ่านกัน เหมือนนั่งคุยกันรอบกองไฟแบบที่พวกเราเคยไปมา
ขอบคุณครับ สุดยอดเลย ผมฟังวิทยุอยู่เป็นเดือนเลยกว่าจะได้เรื่อง ขนาดย่อแล้วยังได้ใจความอย่างดีเลยครับ :2TU:
No matter what happend I am always cheer u and ur family karb. :2TU:
Drunken_Writer
23-11-12, 09:01 PM
ไม่มีอะไรค้านครับ
ชื่นชมที่ย่อเรื่องราวให้สนุกน่าติดตามมาก เห็นภาพรวม...
ข้อคิดที่คิดได้จากเรื่องนี้ หากอ่านในมหากาพย์มหาภารตะ ช่วงสุดท้าย ตั้งแต่กำเนิดภีษมะ มาจนสิ้นวงศ์หัสตินาปุระ
จะพบว่า ตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะถูกกำหนดมาอยู่ฝ่าย"ธรรม" หรือ "อธรรม" ต่างล้วนมีทั้ง "ด้านมืด" และ "ด้านสว่าง"
ฝ่ายธรรม คือ ฝ่ายที่เลือกจะแสดงออกในทางสว่างแต่เก็บงำด้านมืด เอาไว้ใช้ในเพลาที่มิมีใครรู้ใครเห็น ในทางกลับกัน
ฝ่ายอธรรม คือ ฝ่ายที่เลือกแสดงออกในด้านมืดและไม่แสดงออกด้านสว่างในเวลาอันควร
ดังนั้น ในเรื่องนี้ เมื่ออ่านครบจบความแล้ว จึงมิใช่เรื่องที่จะพูดถึงว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เปนฝ่ายดีหรือเลว เนื่องจาก มีทั้งข้อดีข้อเสียทั้งสองฝ่าย จนมิอาจเรียกได้ว่า "ดี" เต็มปากเต็มคำนัก อาทิ เช่น ยุฐิษธีระ ก็ติดการพนันสกาจน ล่มบ้านล่มเมือง.... นางเทราปตี ก็ยินยอมมีสามี ถึงห้าคน ทั้งยังเปนพี่น้องกันเสียด้วย(ยกครัว)..... พระกฤษณะ ก็ลำเอียงมาทางปาณฑพ อย่างน่าชัง..... เปนต้น
โดยสรุป หากอ่านมหากาพย์ มหาภารตะ แล้ว ต้องคิดตามไปด้วยครับ จะได้อรรถรสในเชิง "อักษรศิลป์" เปนอย่างยิ่ง
บทวิเคราะห์คงต้อง ยกให้เปนหน้าที่ สารวัตรแวบมาล่ะครับ เพราะผมเพิ่งจะศึกษาเรื่องนี้ได้ไม่นาน ในฐานะ ผู้อ่านมา...เล่าต่อ.... ขอรับ
ขออนุญาต เพิ่มนิดนึงครับ ศิขัณฑิน เปนร่างเกิดใหม่ของ "อัมพา" สาวน้อยผู้ผิดหวังจากความรัก จากการไปแย่งมาในพิธีสยุมพรของพวกนางสามพี่น้อง (สามนางพี่น้อง อัมพา อัมพิกา อัมพาลิกา) โดย ภีษมะเปนธุระจัดหา ไปรบแย่งชิงมาเพื่อพามาให้เปนชายาของท้าววิจิตรวิริยะ นางขอให้ปล่อยไปหาคนรักเก่า ภีษมะ ใจอ่อนปล่อยอัมพากลับไป แต่ปรากฏกว่า คนรักเก่าก็ไม่รับนางเปนชายา นัยว่า นางเปนของภีษมะไปเสียแล้วรับไม่ได้ เมื่อนางกลับมาหาภีษมะ เพื่อให้ภีษมะรับผิดชอบ..... แต่ ภีษมะ...ก็ทำไม่ได้
เพราะเคยลั่นวาจาไว้ว่าจะไม่แต่งงานและคงพรหมจรรย์ ในคราวที่ไปสู่ขอ พระนางสัตยาวดีลูกสาวชาวประมงให้มาเปนมเหสีของพระราชาศาสตนุ ผู้บิดา ใน ครั้งกระนั้น (ต่อมามีพระโอรส 2 องค์ ก็คือ จิตรางคทะ... สูญหายไปในการสงครามและวิจิตรวิริยะ ผู้น้อง นั่นเอง!!!!)
สุดท้าย ด้วยความเคียดแค้น อัมพาจึงทำพิธีบูชาพระศิวะและพระอัคนี แล้วโดดเข้ากองไฟเพื่อฆ่าตัวตาย แล้วเกิดใหม่มาเพื่อ "เอาชีวิตภีษมะ" โดยเฉพาะ ภีษมะ จึงยอมมอบชีวิตให้ เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในครั้งกระโน้นขอรับ
และที่ภีษมะ ไม่ตายในตอนโดนลูกศร พันดอก ก็เนื่องจากเหตุการณ์ คราวขอนางสัตยาวดี เช่นเดียวกัน ได้รับพรจาก พระราชาศาสตนุผู้พ่อ ว่า หากยังไม่อยากตายก็จะยังไม่ตาย เมื่อ จบสงครามได้สอน "ราชธรรม" ให้พี่น้องฝ่ายปาณฑพ เสร็จสิ้นแล้วจึง สิ้นชีวิต ขอรับ
เรื่องนี้สนุกและน่าติดตาม ไปหาอ่านกันครับ จะได้มาคุยกัน
ขอบคุณสารวัตรอีกครั้ง ที่นำเรื่องดีๆ มาเผนแพร่กันครับ
:2TU: ให้คุณแวบมา
นำมหากาพย์มาเทียบเคียงกับชีวิตคนปัจจุบันได้นะครับ :)
ใส่ใจจุดหมายโดยไม่สนวิธีการที่ได้มา
ใส่ใจกฏเกณฑ์โดยไม่สนใจผลลัพท์
ลืมมิตรภาพภราดรภาพ ในสังคม คิดว่าสิ่งที่ตนได้มาจะยั่งยืน ค้ำฟ้า
อยากชนะ มาแข่งกัน แบบ สุภาพบุรุษสุภาพสตรีแลสุภาพกะเทย เถิด "อรชุน" อิอิ:D
ถูกใจท่านแวบมาและพี่แยปครับ ชักอยากรู้เรื่องฉบับเต็มเลย
สนุกดี
Drunken_Writer
26-11-12, 12:14 AM
ผู้การตู้ ขออนุญาตแนะนำให้เริ่มอ่านที่
"มหาภารตะยุทธ์" ของอ.กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ครับ สนุก ยังไม่ละเอียดและไม่ซับซ้อนเกินไป
อ่านจบแล้ว มาเริ่มอ่าน "เรื่องเล่าจากมหากาพย์มหาภารตะ" ของ อ.วีระ ธีรภัทรทั้งสี่เล่ม ก็จะมันส์เปนหลายเท่าทวีคูณ ครับ
quixote
26-11-12, 10:48 AM
ได้ทั้งสาระและบันเทิงครบ ประวัติศาสตร์ถูกเขียนโดยผู้ชนะเสมอ
stormhead
26-11-12, 11:25 AM
ขอบคุณครับ อ่านสนุก กระทัดรัดมากครับ
ขออนุญาตจดจำเปนสาระไว้เล่ากล่อมลูกนะครับ ..แต่คงจำชื่อได้ไม่หมดเพราะอ่านยากจริงจริงครับ:p:D
ตาเกิ้น
26-11-12, 01:15 PM
ย่อมาได้อ่านสนุกมากครั[:2TU:
จ่าน้อมทหารหน้า
27-11-12, 07:42 AM
ภีษมะนี่เป็นลูกของพระแม่คงคาใช่ไหมขอรับ:confused:
เคยดูหนังแขกนานมาแล้ว ทำได้ซาบซึ้งมาก รู้สึกว่าภีษมะจะได้เป็นรัฐบุรุษคนสำคัญ
เสียสละและรักชาติมาก ไม่ได้แต่งงานซะด้วย ยังกะป๋าเปรม
ในเรื่องจริงๆ เวลาพระนางขึ้นมาที่ฝั่งน้ำ งามมากๆ เสด็จพ่อของภีษมะขับรถกินลม
ผ่านมาแบรกแทบไม่ทัน แต่ในหนังเขาทำให้คนดูรู้สึกตลอดว่าที่คือเทพ
ระดับบิ๊กมาอยู่ตรงหน้าเรา เวลาท่านลูบหน้าลูบหลังร่ำลาลูกชาย
ท่าทางเปี่ยมทั้งความรักและเมตตาของแม่ที่มีให้ลูก รวมไปถึงพวกเราที่ใช้
น้ำอยู่ได้ทุกวันนี้ด้วยพระเมตตาของท่าน นึกถึงวันลอยกระทงเลย:p
ส่วนนางกุนตี จำจากในหนังว่าการยกครัวถือเป็นการเสียสละอย่างสูง
ในการต้องออกจากวังมารับใช้สามีเกือบครึ่งโหล
เพราะทั้งผัวเอก และน้องๆตอนนั้นน่าจะหมดตัวจากสกาสิโน:crying:
ต้องไปอยู่กระท่อมปลายนาแล้ว จะให้ระดับเจ้าชายมาปลูกข้าวเก็บผักกิน
คอยซักผ้าให้ คงทำไม่คล่องก็ต้องผู้หญิงนี่ละทำให้
เรียกว่ายิ่งใหญ่กว่านางสีดาซะอีก
เพราะนางสีดาออกมา outdoor กะพระรามท่านหน่อยเดียว
ย. ยักษ์ ก็มาอุ้มไปไว้ในตำหนักติดแอร์ซะแล้วขอรับ
เข้าทำนองสอนสาวๆเมืองอินเดียว่า
จำไว้ๆเป็นเมียตัวอย่าง ผัวขออาไรอย่ามาเถียงเชียวนะ:D
สารวัตรย่อมาได้เยี่ยมยอดเลยขอรับ มีไรจะเล่าอีกบ้างนอกจากเรื่องของอรชุน
พระกฤษณะล่ะขอรับ มายุ่งอะไรกับเรื่องนี้
เพราะเป็นการอวตาร ต้องมาเพื่อปราบอะไรสักอย่างตาม job description
ขององค์พระนารายณ์ท่าน พี่แย็ปมาต่อให้หน่อยดิ
ใจจริงแล้วก็อย่างที่เกริ่นไว้ว่า
แรกเริ่มที่ผมตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาเพราะเห็นว่ามีข่าวอย่างที่สำนวนคุณทนายเรียกว่า "หมวยแก่รังแกเด็กสาว"
ใส่ร้ายป้ายสีเหมือนตัวอิจฉาในละครน้ำเน่าเป็นทำนองบั่นทอนขวัญกำลังใจในการยิงธนูของเด็กที่ท่าทางมีอนาคตจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับตนได้
ผมจึงนึกถึงเรื่องราวในหนังสือที่ได้อ่านเมื่อตอนเป็นเด็กขึ้นมา
นั่นคือเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ คุ้นๆ ว่าน่าจะมีที่เกี่ยวข้อง
พอไปค้นจากสื่อสมัยใหม่ก็พบจริงๆ นั่นคือ "ตอนที่อรชุนไปฟ้องโทรณาจารย์ จนเอกลัพย์ต้องตัดนิ้วโป้งและหมดอนาคตการเป็นนักยิงธนู"
แต่เมื่อหาทางวกวนกว่าจะเข้าประเด็น จนเกือบจะผิดข้อบังคับการประชุมมาตรา ๖๑ จึงทำให้มีเกร็ดนอกประเด็นไปมาก
กระผมก็จะแสดงความรับผิดชอบต่อสมาชิกท่านอื่นด้วยการโม้ต่ออีกสักเล็กน้อย
แต่อาจจะทำได้ไม่มากเพราะผมอ่านเรื่องนี้เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว
ประเด็นพลความที่ผู้แต่งต้องการสื่อผมก็ไม่มีโอกาสได้พิเคราะห์ใหม่เพราะหนังสือถูกปลวกกินไปหมดแล้ว
ที่พอจำได้บ้างก็เพียงบางตอนที่ตื่นเต้นเป็นที่สนใจสมัยวัยเด็ก
แล้วจับนำเอามาประสมกับข้อวิเคราะห์จากประสบการณ์ส่วนตัวเอาเอง
จึงอยากขอให้ อ.แย็ป ช่วยเสริมต่อในฐานะที่น่าจะคลั่งใคล้ติดตามผลงานของอรชุนมามากกว่าผมครับ
สำหรับประเด็นพระนางกุนตีที่พี่ตาเกิ้นว่ามีความสามารถเหมาเทวดาได้ถึง ๔ องค์ คือ
พระสุริยเทพ บิดาของ กรรณะ
พระธรรมเทพ บิดาของ ยุธิษฐิระ
พระพาย บิดาของ ภีมะ หรือภีมเสน
พระอินทร์ บิดาของอรชุน
แต่ก็เป็นเพียงการอัญเชิญเทวดามาเป็นการเฉพาะกิจระยะสั้น
ซึ่งนั่นคงยังไม่เทียบเท่ากับความสามารถของนางเทราปที หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม "นางกฤษณา"
ที่ต้องดูแลสามีพี่น้องปาณฑพลูกเทวดาทั้ง ๕ คน พร้อมกันเป็นเวลายาวนาน
จนกระทั่งพระกฤษณะพานางสัตยภามาผู้เป็นชายา(หนึ่งในหมื่นกว่าๆ)ของพระองค์มาเยี่ยม
นางสัตยภามาจึงแอบขอเคล็ดลับมัดใจสามีจากนางเทราปที
จนเกิดเป็นวรรณกรรมเรื่องสำคัญนั่นคือ "กฤษณาสอนน้อง" นั่นเองครับ
ผมเคยอ่านบทวิจารณ์วรรณกรรมเรื่องนี้
มีแม่บ้านสมัยใหม่บางคนถึงกับเอ่ยว่า "รับไม่ได้กับการที่นางกฤษณามีสามีพร้อมกันถึง ๕ คน"
อย่างนี้เดี๊ยนไม่ยอมเอาเป็นแบบอย่างดอก (น่าจะเข้าสมาคมเจ๊เบียบได้)
แต่อย่าลืมสิ่งที่ผมเคยพูดถึงไปแล้วนะครับ นั่นคือ
อย่าเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีในปัจจุบันของตนเองไปตัดสินคนอื่น
เรื่องผู้หญิงมีสามีหลายคนพร้อมกันในบางที่บางถิ่นก็อาจจะมีให้เห็นเป็นปกติครับ
สมัยเด็กผมเคยอ่านป๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่คนทั่วไปคิดว่าแปลก พบว่า
ในชนเผ่าแถบหิมาลัย ยังมีประเพณีการแต่งงานผู้หญิงคนเดียวกับผู้ชายหลายคนที่เป็นพี่น้องกันอยู่จริงๆ ครับ
ดังนั้นการที่นางเทราปทีมีสามีถึง ๕ คน แล้วยังปฏิบัติหน้าที่ภรรยาที่ดีได้อย่างไม่มีบกพร่อง
หากมีความเห็นในทางลบเกี่ยวกับเรื่องนี้ผมก็ว่าเป็นการหมิ่นกันมากไปสักหน่อย หรืออาจเกิดจากความอิจฉาก็ไม่ทราบ
เพราะดูตัวอย่างแม่บ้านสมัยนี้หลายๆ คน สามีคนเดียวยังดูแลเอาใจใส่ไม่ได้เต็มที่ จนสามีต้องไปหาผู้ช่วยภรรยามาเสริมครับ
สำหรับเรื่องความลำเอียงของพระกฤษณะ ขออนุญาตติดไว้ก่อน
ว่างๆ จะมาเสนอแนวคิดขวางโลกให้ฟังกันอีก
ขอบคุณแฟนๆ ที่ยังเหนียวแน่นติดตาม
หรือหากใครมีใจเมตตาจะให้ทานตอบแทนเป็นสุรายาเบียร์เพื่อหล่อเลี้ยงลำไส้ที่คอดกิ่ว
วณิพกผู้เล่านิทานนี้ก็ยินดีน้อมรับครับผม
Drunken_Writer
28-11-12, 07:53 AM
ในเคส หนึ่งหญิงหลายชาย พี่น้อง ปัจจุบันนี้ ยืนยันว่ายังมีอยู่จริง แต่คงยังรั้งไว้ เมื่อสามีที่แท้ ที่ปลงใจ ชิงตายไปเสียก่อน จึงจักรับ เอาพี่หรือเอาน้อง มาเปนสามีคนต่อไปขอรับกระผม
ถ้า อ.แย้ป ว่าอย่างนั้นก็คงเป็นเช่นนั้น
ผมก็ได้แต่เอาจากเรื่องเล่าในหนังสือที่ไม่รู้ว่าคนแต่งโม้มากน้อยแค่ไหน มาใส่สีตีไข่เพิ่มเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง
แต่ก็อดเดาๆเอาไม่ได้ว่า หรือที่เขาเล่าอาจเป็นเรื่องของบางกลุ่ม บางเผ่า หรือบางท้องถิ่นหมู่บ้านตำบล ชนกลุ่มเล็กๆ
ไม่ใช่วัฒนธรรมที่แพร่หลายก็ได้ เขาถึงเอามาเขียนเล่าว่าแปลกเป็นพิเศษครับ :)
Drunken_Writer
30-11-12, 06:39 AM
เปนวัฒนธรรมที่แพร่หลายอยู่ในอดีต แต่ในปัจจุบันนี้หาพบน้อยแล้วครับ สารวัตร
Powered by vBulletin® Version 4.2.3 Copyright © 2025 vBulletin Solutions, Inc. All rights reserved.