View Full Version : ไกด์บ้า พาเที่ยว ตอน อิน..... อินเดีย (เพิ่มวันละตอนนะครับ)
Drunken_Writer
23-02-14, 09:59 PM
ตามรอยบาท พระศาสดา #1
"เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา
เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต
เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ
เอวํ วาที มหาสมฺโณ"
"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้"
------พระอัสสชิเถระ แสดงธรรมต่อ อุปติสสะ
"เมื่อ คนที่ไม่ค่อยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่าง "ไกด์บ้า พาเที่ยว" ต้องพาผู้ศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ไปแสวงบุญตามรอยเบื้องบาทพระศาสดา มหาบุรุษเอกของโลก ในดินแดนแห่งสังเวชนียสถานสี่ (อินเดีย-เนปาล) ดวงตาแห่งธรรม จึงก่อกำเนิดขึ้นในหัวใจ...."
---------------------------------------------------------------------------------
ตอนที่ ศูนย์....
ท้าว.....ความ ตาม.....รอย
"เคยไปอินเดียมาหรือยังครับ..... อ่อเคยแล้วเหรอครับ จริงมั้ยครับว่า ถ้าเคยไปอินเดียแล้ว สามารถไปเที่ยวได้ทั่วโลก????" นี่เปนคำถามที่มักจะถาม นักท่องเที่ยวที่เคยร่วมทางเสมอ เพราะต้องการรู้ว่าจริงหรือไม่
จนกระทั่งในวันนึงเมื่อเดือนมกราคม........ นุ้งนิ้งๆๆๆๆ เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น จึงยกขึ้นมาดูชื่อคนที่โทรเข้ามาแล้ว....กดรับสาย
"อาเหล ว่าไงจ๊าาาา.......???" ผมถามปลายสายด้วยน้ำเสียง ตอแหลตามธรรมชาติ
"เอิ่ม พี่...... เยอะแระๆ พี่แย้ป วันที่ 13-18 กพ ว่างป่ะ ไปอินเดียให้หน่อยสิ" เสียงปลายสายจู่โจมแบบไม่ให้ตั้งตัว
อินเดีย แค่ได้ยินชื่อก็ขนลุกขนชัน ...... อยากไป!!!!!
"พี่ไม่ว่างแล้วอ่ะ ติดงานแล้ว" เสียดาย ในใจได้แต่บ่นคำว่า "เสียดาย"
"ไม่เปนไรพี่ เสียดายอ่ะ งั้นเดี๋ยวน้องทำงานก่อนนะ เดี๋ยวคุยกัน" แล้วปลายสายก็วางไป
น้ำตาตกอยู่ข้างใน........ผ่านไปสองวันกะสองชม. มีอีกสายเรียกเข้ามา กดรับแบบตื่นเต้น
"พี่แย้ป" ปลายสายเรียก
"งับ" ผมตอบรับ
"งานเลื่อนนะพี่" ปลายสายแจ้งข่าวร้าย(สำหรับมัคคุเทศก์ทั่วไป แต่กลับเปน ข่าวดีสำหรับผมแฮะ)
"เออๆ ไม่เปนไร ไม่ว่ากันเท่านี้ก่อนนะพี่มีงานด่วน" ผมวางสายและรีบโทรกลับไปยังสายเดิมทันที
"อาเหล พี่ว่างแล้วนะ ยังให้พี่ไปป่าว อินเดียอ่ะ"
"เอ้ย จริงดิ เออๆ เดี๋ยวส่งโปรแกรมให้ดูก่อนนะพี่ แล้วเดี๋ยวเข้ามาที่ออฟฟิศนะคะ"
"อ่ะจะ ได้ๆ" ในหัวใจพองโต.....
"เอ่อ พี่..... ไปคนเดียวนะ ไม่มีพระวิทยากรให้นะ ลูกค้าไม่เยอะ แค่ เจ็ดคนเอง..แต่......"
"แต่อะไรอ่ะ?????"
"เดี่ยวเข้ามาคุยที่ ออฟฟิศแล้วกันนะพี่ ตอนนี้งานยุ่ง"
"ได้จ้าได้ เดี๋ยวเจอกันจ้า" ผมจึงกดวางสายด้วยหัวใจเบิกบาน
การเดินทาง ในเส้นทางสังเวชนียสถาน จึงกลายมาเปนส่วนหนึ่งของชีวิต..........
และแล้ว การเตรียมตัวเพื่อเดินทางครั้งสำคัญ ที่เปลี่ยนมุมมองทางศาสนาพุทธไปอย่างสิ้นเชิงก็เริ่มขึ้น.....!!!
บนเส้นทางสังเวชนียสถานสี่ มีอะไรบ้าง เดินทางยังไง ถนนเปนยังไง ไกลแค่ไหน ข้อมูลจะหาได้ที่ไหน จะต้องผจญภัยอะไรในแดนภารตะบ้าง ไม่รู้เรื่องสักอย่างเลยตรู
คำถามมากมายเกี่ยวกับการเดินทางในครั้งนี้ วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งผลอยหลับไป........
โปรด ติดตามตอนต่อไป ถ้าอยากติดตาม....
แย้ปปี้ ไกด์บ้าพาเที่ยว
Drunken_Writer
23-02-14, 10:00 PM
ตอนที่ หนึ่ง
"ติ้งๆ" เสียงแอป ไลน์ ดังขึ้นส่งข้อความไปหาพี่ยอรช์ เซียนอินเดีย เพื่อขอความช่วยเหลือ ได้สักพักนึง
กดปุ่มเปิดอ่าน แล้วรีบพิมพ์ข้อความต่อไปโดยพลันเพื่อขอให้พี่ยอร์ชมาช่วยติวอินเดียให้ เพราะในชม.นี้ พี่ยอร์ชนี่แหล่ะ ที่ไปอินเดียเยอะและบ่อยที่สุด เท่าที่รู้จัก และในที่สุดก็ได้รับความอารี จากพี่ชายคนนี้ติวให้ จนเกิดความมั่นใจฮึกเหิมขึ้นมาในระดับนึง แต่รู้สึกว่ายังไม่พอจึงนัดป้าแอน พี่ที่สนิทอีกคนเพื่อติวอินเดียให้ ตกลงได้เสร็จสรรพ จึงหอบหิ้วกับแกล้มและขวดเขียวไปหาที่บ้านเลยทีเดียว สรุป ไม่ได้ติว แต่นั่งเมาท์จนเมา ซะอย่างนั้น
จนกระทั่ง........ วันเดินทางมาถึง
โปรแกรมการเดินทางในคราวนี้ของผม ค่อนข้างกระชับ เพราะเปนกรุ้ปเล็กๆของครอบครัว ที่ลูกชายคนโตอยากพาคุณพ่ออายุกว่าเจ็ดสิบปี ไปสักการะยัง สังเวชนียสถานสี่
วันแรกเราจะอยู่กันที่ พุทธคยา
วันที่สอง ไป ราชคฤห์
วันที่สาม ไปไวสาลีและกุสินารา
วันที่สี่ ไปลุมพินี
วันที่ห้า ไปพาราณสีและสารนาท แล้วเดินทางกลับ
การเดินทางไปและกลับคราวนี้ ใช้สายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ ความน่าอับอายของชาติครับ สำหรับทั้งสองไฟลท์ที่ใช้คราวนี้ เพราะบริการไปแย่มากเหลือเกิน จนขากลับทนไม่ได้ คอมเพลน ซีเนียร์สตาฟไปพอสมควร
สำหรับวันแรก ผมรีบออกจากบ้านมาแต่เช้า มารอสมาชิกที่สนามบินหนองงูเห่า ซึ่งในววันี้ พี่ชายที่แสนดี ก็สละเวลามาช่วยดูแลเรื่องเช็คอินหน้าเคาเตอร์ให้อีก ของคุณอีกครั้งครับ พอสมาชิกผู้ร่วมเดินทางมา สวัสดีทักทาย หัวหน้าคณะซึ่งเปนลูกชายคนโต ถามคำถามแรกว่า
"คุณแย้ปบวชหรือยัง"
ผมก็ตอบไปว่า "บวชแล้วครับ"
"กี่พรรษาล่ะ"
"เจ็ดวันครับ บวชวันที่แปดกุมภา สึกวันวาเลนไทน์ คับ"
พี่เค้าทำหน้าอึ้งๆ แล้วก็เดินจากไปอย่างเงียบๆ หน้าเฉยๆ จนรู้สึกลึกๆในใจว่า.......... อุต๊ะ!!!!
หลังจากเช็คอินเสร็จเรียบร้อยก็ได้อาศัยบารมี บัตรทองและบัตรเงิน รอยัลซิลค์ของสมาชิกทุกคน (หน ทัวร์ ม่ายมีสักบัตร T.T) เข้าเช็คอินช่องพิเศษ ไปรอด้านใน และในที่สุด เครื่อง โบอิ้ง 737-400 ก็พาพวกเราทั้งแปดคน ข้ามทะเลมาสู้เมือง คยา Gaya หรือ พุทธคยา Bodgaya ตามเวลาเป๊ะ ซึ่งเดี๋ยวจะมี เอสคอร์ท Escourt ชาวอินเดียที่มีชื่อว่า ลาวินดาร์ มารับ
***(ที่อินเดีย เส้นทางสังเวชนียสถานไม่มีไกด์ท้องถิ่นให้ครับ เพราะส่วนใหญ่เปนฮินดู ไม่ค่อยทราบเรื่อง พุทธศาสนานัก ส่วนใหญ่กรุ้ปคนไทย จะมี "พระวิทยากร" เดินทางมาด้วยเพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟังพร้อมนำสวดครับ แต่คราวนี้ กรุ้ปผมไม่มี เตรียมบรรยายเองทุกที่ ข้อมูลเบื้องต้นส่วนใหญ่ พี่ยอร์ชติวมาเรียบร้อยแล้วเหลือแต่เจอของจริงล่ะคร้าบ)***
ที่สนามบินนี้ พี่พี่ บอกมาก่อนแล้วว่า เตรียมตัวเจอ กับการ "ขอรับฉัน" (Corruption)ได้เลยเพราะเปนสนามบินเล็กๆ และอยู่ในรัฐพิหาร ซึ่งเนรัฐที่จนที่สุดในอินเดีย
เริ่มจาก ที่สายพานรับกระเป๋า ศุลการกรอินเดีย Custom จะมาแยกกล่องอาหาร(กรุ้ปไทยทุกกรุ้ปเตรียมไปมากมาย เหมือนไปตั้งร้านอาหาร เพราะคิดว่าส่วนใหญคนไทยทานอาหารพื้นเมืองทางนี้ไม่ได้ แต่บอกเลย เส้นสี่สังเวชนียสถานนี้ ผมว่าอาหาร คนไทยทานได้ทุกที่ ถ้าไม่เรื่องมากและมีค่านิยมผิดๆในการท่องเที่ยว) กระเป๋าที่ดูแล้วเปนของหัวหน้าทัวร์ สังเกตุว่าทุกกล่องและกระเป๋าจะมีชอล์คขาวๆขีดเอาไว้ ผมก็เตรียมผ้าเปียกมาเช็ดออกแหล่ะ
ยืนรอกระเป๋าอยู่สักพัก ปรากฏว่าทั้งกรุ้ปโดนอยู่ใบเดียวครับ ส่วนกรุ้ปอื่นที่บินมาด้วยกันที่เปนคณะใหญ่ โดนกันไปมากบ้างน้อยบ้างตามแต่เจรจาได้ ส่วนผม รอให้กรุ้ปใหญ่โดนให้เรียบร้อยก่อนจึงไปเจรจาขอรับกระเป๋าใบสุดท้ายมาแบบสบายๆ เพราะเจ้าหน้าที่ "อิ่ม" แล้ว (ไม่รอดหรอกครับจ่ายเหมือนกัน)
เมื่อออกมาข้างนอก เจอ ลาวิน(เค้าบอกให้ผมเรียกชื่อเค้าอย่างงี้) ลาวินรีบมาบริการสมาชิกช่วยเข็นกระเป๋าพร้อมรอยยิ้มและส่ายหัวไปมาโดยพลัน อ่า ประทับใจตั้งแต่เจอเลย
ลาวิน พาพวกเราเข้าไปโรงแรมเพื่อพักผ่อนกันก่อนเพราะตอนที่ไปถึงนั้นเนี่ย แดดยังร้อนอยู่ ผมจึงนัดสมาชิกมารวมตัวกันเพื่อไป "แสวงบุญ" ในเวลา 1630 ของอินเดีย (เวลา อินเดียช้ากว่าที่เมืองไทย 1 ชม 30 นาที ครับ อย่าลืมปรับเวลาตาม) ทุกคนเข้าห้องพักด้วยความอ่อนเพลียเล็กน้อย
1630 ตามเวลา ทุกคนลงมารอด้านล่างแล้ว ลาวินจึงพาพวกเรามุ่งหน้าไปยังพระเจดีย์มาหาโพธิ์ Mahabodi Stupa เพื่อไปสักการะ ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จ ตรัสรู้ อุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ใต้ต้นโพธิ์นี้ แต่ต้นที่เห็นนี่ไม่ใช่ตั้นดั้งเดิมนะครับ เปนต้นที่สี่แล้ว (ขอเล่ากึ่งวิชาการเล็กน้อย ตัวเลขอันไหนไม่สำคัญ ก็ตัดทิ้งไป จะได้ไม่น่าเบื่อนะครับ)
ต้นที่หนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ โดน มเหสีคนที่สี่ของพระเจ้าอโศกมหาราช ทำลายโดยการเทยาพิษใส่ แต่พระเจ้าอโศกก็กู้กลับมาโดยใช้นมวัวจำนวนมารดจนเกิดหน่อต้นโพธิ์ นำมาปลูกใหม่
ต้นที่สอง พระเจ้าศศางกะ ผู้เกลียดชังพุทธศาสนาเปนผู้ทำลายทิ้งด้วยพระองค์เอง แต่ก็ได้เจ้าชายพระองค์นึง(ตอนนี้จำชื่อไม่ได้แระ) มารดด้วยน้ำนมจนแตกหน่อออกมาอีก แล้วจึงนำไปปลูกไว้ ณ จุดเดิม
ต้นที่สาม อยู่มานานที่สุด อายุนับพันปี จนกระทั่งปีพศ. 2421 หักโค่นลงโดยลมพายุและความชรา เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ข้าราชการชาวอังกฤษ จึงนำหน่อต้นโพธิ์มาปลูกไว้ สองแห่งในพุทธคยาแห่งนี้
ต้นที่สี่ ต้นปัจจุปัน เริ่มนับอายุปลูกมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2423 กี่ปีมาแล้วก็นับกันเอาเองนะครับ
หลังจากนั้นก็จะพาทุกคนไปสักการะ "พระพุทธเมตตา"และเดินไปสักการะ "สัตตมหาสถาน" ที่กระจายอยู่โดยรอบ พระเจดียมหาโพธิ์.....
ก่อนลงจากรถ ผมได้ให้สมาชิกทุกท่านเก็บ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคทุกชนิดห้ามนำเข้า(เพราะเคยมีคนวางระเบิด เมื่อหลายปีที่แล้ว) กระเป๋าถ้าไม่จำเปนเอาไว้บนรถ มิเช่นนั้นจะเสียเวลาตอนเอ็กซเรย์ Xray หรือตรวจค้นกระเป๋าครับ ใครมีกล้องนำเข้าได้ เสียค่าธรรมเนียมกล้อง ตัวละ 100 รูปี (มีที่เดียวที่เสียในทริปนี้)
สุดท้าย ให้ทุกคนนิมนต์ "หลวงพ่อเฉย" ลงประทับทรง ห้ามใจอ่อนให้เงินหรือ ขนม หรืออะไรก็แล้วแต่ กับขอทานที่เจอระหว่างทางโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้น ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นได้ เสร็จสรรพแล้วทุกประการจึงพาสมาชิกเดินเข้าไปยังพื้นที่ แห่งการตรัสรู้
"พุทธคยา"
ยังไม่จบ ยังมีอีกยาว ....โปรดติดตามตอนต่อไป.....
แย้ปปี้ ไกด์บ้าพาเที่ยว
Drunken_Writer
23-02-14, 10:00 PM
ตอนที่ สอง
พุทธคยา สักการะ "พระมหาโพธิเจดีย์" "พระพุทธเมตตา" "พระศรีมหาโพธิ์" "สัตตมหาสถาน"
ท้าวความตอนเดิม......... หลังจากลงเครื่องมาแล้ว แวะเข้าเช็คอิน กินข้าวเที่ยง ก็ถึงเวลาแสวงบุญ คร้าบบบบ
เมื่อ Tempo ของเรา ***( ถ้าคณะ มากันน้อย3-4 คน จะให้รถเก๋งครับ แต่คณะผมมากันแปดคน ใช้Tempo เปนรถสิบห้าที่นั่งครับ ถ้ามามากกว่านี้ ก็รถบัสโลด!!!!)*** แล่นออกจาก โรงแรม กาแลคซี่ (ทริปนี้ วีไอพีครับ นอนโรงแรมที่ดีที่สุดของทุกเมือง เปนบุญของไกด์บ้า เหลือเกิน ที่ไม่ต้องไปนอนกรนในวัดไทย ให้พระ-เณรกระเจิดกระเจิง คิดว่าสัตว์ประหลาดบุก) ใช้เวลาไม่นาน ราวสิบนาทีก็มาจอดที่หน้าพุทธคยา ก่อนลงจากรถ ผมย้ำกับสมาชิกทุกท่านอีกครั้งเรื่องของการเก็บของต้องห้ามต่างไว้บนรถและการนิมนต์หลวงพ่อเฉยลงประทับทรงในใจ
ด้วยความไม่เคยมา(ถ้าคณะมีเยอะ เกรงความวุ่นวายแถวๆที่ฝากรองเท้า แนะนำให้ถอดรองเท้าไว้บนรถเลยครับ ทางเดินสบาย เดินเท้าเปล่าได้) ก็ไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหนบ้าง ลาวิน เอสคอร์ทคนเก่งของผมกระซิบกับผมว่า Don't Worry ,FollowMe!! แล้วลาวินก็พาไปซื้อตั๋วกล้องถ่ายรูป จ่ายไปเบาๆ คนละ 100 รูปี (1000 บาท แลกได้ 1800 รูปี เมื่อวันที่ 13/2/2014)
คือผมบอกเค้า ตอนที่เจอกันที่สนามบินว่า This's My First Time India ,Please Help Me Everything..... ลาวิน ส่ายหัว ยิ้มกว้าง หนวดกระดิก พร้อมกับตอบว่า Don't Worry. ^__^!
เราเดินกันอย่างช้าๆผ่านซุ้มประตูทางเข้า เข้าไปในเขตพุทธคยา... ภาพมหาโพธิเจดีย์ค่อยๆปรากฏขึ้นมาจากยอดแนวต้นไม้ใหญ่ที่บังตาอยู่ในคราวแรก ยอดพระมหาเจดีย์ทำจากทองคำ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยร่วมกันสร้างและนำมาระดิษฐานไว้บนยอดเจดีย์ เปล่งแสงสีทองเรืองขึ้นมาจาแสงแดดอ่อนๆ ยามเย็น ตัดกับท้องฟ้าสีครามแซมด้วยสีเขียวแก่ของต้นโพธิ์ใหญ่ที่อยู่ล้อมรอบเจดีย์ บนองค์เจดีย์รูปปรางค์สี่เหลี่ยมลดขนาดจากฐานถึงยอดลงตัวอย่างงดงาม แต่จากจุดนี้ คณะของเรายังไม่สามารถมองเห็นองค์เจดีย์ทั้งองค์ได้ เพราะหลังจากที่ พระมหาโพธิเจดีย์ ถูกทิ้งร้างมานาน น้ำจากมหานที "แม่น้ำเนรัญชรา" ได้บ่าเข้าท่วมพร้อมนำตะกอนดินมาท่วมทับ ปีแล้วปีเล่า ชั้นแล้วชั้นเล่า กว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่ ขุดแต่งอย่สงจริงจัง ในราวปี พศ.2400 กว่าๆ องค์พระมหาเจดีย์ก็จมลงไปใต้ดินไปกว่า ห้าเมตร เมื่อ เทียบกับระดับดินในปัจจุบัน ดังนั้น องค์พระมหาเจดีย์จึงเหมือนถูกก่อสร้างเอาไว้ในหลุมสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ที่ล้อมรอบไปด้วยเจดีย์องค์เล็ก ที่เปนทั้งเจดีย์ทั่วๆไปและในส่วนของ สัตตมหาสถานนั่นเอง
จากระยะทางประมาณห้าสิบเมตร คณะของเราก็มาถึงทางเข้า หลักซึ่งทุกคนจะต้องผ่านเข้าเครื่องสแกน แยกชาย-หญิง ชายทางซ้าย หญิงทางขวา เครื่องเอ็กเรย์อยู่ขวามือ (เจ้าหน้าที่ ชาวอินเดีย เปิดกระเป๋าดู) ณ จุดนี้ จะมีการตรวจบัตรค่ากล้องสำหรับคนที่มีกล้องด้วยครับ จากจุดนี้อีกราวสามสิบเมตร ตรงประตูทางด้านทิศตะวันออกของพระมหาเจดีย์จะมีจุดตรวจอีกครั้งครับ
ที่ต้องรักษาความปลอดภัยกันขนาดนี้ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีการวางระเบิดพระมหาเจดีย์ แต่ด้วยพุทธานุภาพ ทำให้องค์เจดีย์ไม่เปนอะไรมาก ทั้งนี้ทั้งนั้น ในเขตพุทธคยาและวัดไทยนานาชาติที่อยู่โดยรอบนั้น แต่เดิม อยู่ในความดูแลของชาวฮินดู วรรณพราหม์ ตระกูล มหัน ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่ ในพื้นรอบๆนั้นเอง ทำให้เกิดความขัดแย้งกันมากมาย ระหว่างฮินดูกับพุทธ จนกระทั่งชาวพุทธจากทั่วโลก เริ่มโดย ท่าน อนาคาริก ธรรมปาละ จากศรีลังกา เปนแกนนำตั้ง สมาคมมหาโพธิ ทำการรณรงค์เรียกร้องให้พุทธคยา กลับมาอยู่ในความดูแลของชาวพุทธ
จนในที่สุด ทางรัฐบาลอินเดีย จึงออกกฏหมายพุทธคยาขึ้นในปีพ.ศ. 2492 จึงทำให้ พุทธคยามาอยู่ในความดูแลของชางพุทธิีกครั้ง แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซนต์นะครับ เพราะจะมาคณะกรรมการพุทธคยา เปนฮินดูครึ่งนึง พุทธครึ่งนึง ประธานเปนฮินดูและไม่เปลี่ยน คือหัวหน้าของพราหม์ตระกูลมหัน นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายมหัน ก็ได้มอบพื้นที่แบบให้เปล่า(ฝ่ายมหัน อ้างอย่างนั้น)ให้กับชาวพุทธมากมาย จนกระทั่งเกิดวัดพุทธนานาชาติ มากมายหลายแห่งอยู่รอบๆพุทธคยา
เมื่อเดินมาถึงทางเข้าหลัก ก็ต้องถอดรองเท้าล่ะครับ ฝากไว้แถวนั้น จะมีคนรับฝากตรงซอกตึกหน้าประตูนั่นแหล่ะ ตรงประตูนี้เปนจุดถ่ายภาพ ที่สามารถถ่ายภาพได้อย่างสวยงาม เห็นพระมหาเจดีย์ทั้งองค์ จะถ่ายเองก็ได้หรืแอยากได้แบบ ถ่ายปุ้บได้ปั้บก็มี เจ้าหน้าที่รับถ่ายรูป ภาพละ 100 รูปี คร้าบบบ ถ่ายรูปเสร็จ รอแป้บเดียวไม่เกิน ห้านาที รูปก็ส่งถึงมือทุกคนที่ต้องการครับ
เก็กสวยเก็กหล่ออย่างสำรวมเสร็จแล้วก็พาคณะเดินลงบันไดลึกลงไปจากระดับพื้นดินราวห้าเมตร เมื่อมองเห็นพระมหาเจดีย์เต็มองค์ ความงามอย่างลงตัวก็ปรากฏ ยอดเปนทรงเจดีย์กลม แทนค่าถึงพระพุทธศาสนา องค์เจดีย์เปนทรงปรางค์เหลี่ยม แทนค่าถึง ศาสนาฮินดู ที่มีปรางค์และห้องเรือนธาตุ ส่วนด้านล่างสุดเปนลักษณะของวิหาร ที่มีห้องครรคฤห เปรที่ประดิษฐานรูปเคารพ ดังนั้น พระมหาโพธิเจดีย์ จึงมีสถาปัตยกรรม ในแบบที่เรียกว่า "เจติยวิหาร" นั่นเอง (แบบละเอียดๆ ไว้เดินทางไปด้วยกันแล้วจะเล่าให้ฟังนะคร้าบ)
มีเรื่องเล่าว่าในอดีต ชาวพุทธเคยเจ็บช้ำน้ำใจที่กษัตริย์ชาวฮินดูเคยสั่งให้นำเอา รูปเคารพฮินดูมาตั้งแทนพระพุทธรูป แต่ข้าราชการที่รับคำสั่งมิกล้าทำ จึงก่อกำแพงปิดองค์พระพุทธรูปเอาไว้ แล้วนำรูปเคารพของฮินดูมาตั้งไว้ด้านหน้าแทน ต่อมา กรรมตามทันกษัตริย์ฮินดู กระอักเลือดสิ้นพระชนม์ จึงมีการย้ายรูปเคารพฮินดูออกแล้วจึงต่อยกำแพงลงเสีย มีเรื่องเล่าขานเปนปาฏิหารย์ต่อมาว่าเมื่อต่อยกำแพงลงแล้ว ปรากฏว่า ตะเกียงน้ำมันที่จุดเอาไว้ตั้งแต่ก่อปิดหน้าพระพุทธรูปนั้น ยังมิดับลง......
ปัจจุบันนี้ ประดิษฐาน "พระพุทธเมตตา" พระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก เมื่อเดินลงบันไดมา องค์พระก็ค่อยๆปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนขึ้นในมุมมองเรื่อยๆ ด้วยความงามขององค์พระพุทธรูป ทำให้คณะเปลี่ยนใจโดยไม่ได้คุยกันจากคิดไว้ง่าจะเดินเวียนเทียนก่อน กลับกลายเปนว่าคณะของเราเดินตรงเข้าไปในโถงวิหาร เพื่อถวายผ้าห่มองค์พระทันที ซึ่งเวลาถวายจะถวายครั้งละสามผืน โดยจะมีพระสงฆ์ทำหน้าที่ห่มองค์พระอยู่ตรงนั้นและห่มเสร็จ สวดมนต์รับพรเสร็จก็จะปลดออก เพื่อเก็บไปรวมไว้ที่สำนักงานอีกที (ไม่ต้องขอตรงหน้าพระนะครับ เค้าไม่ให้ อยากได้กลับบ้านต้องไปที่สำนักงาน เช่าชุดละ500บาท มีทั้งสามผืนครับ สำนักงานอยู่ด้านหน้าทางเข้าริมถนน อ่อ!!! ห้องน้ำก็อยู่ตรงนั้นครับ หลังบูธขายตั๋วกล้องนั่นแหล่ะครับ *** คณะเรามีความอดทน รอจนพระเก็บผ้าออกมา และสามารถขอแบบลับๆมาได้ผืนนึง)
ณ ตรงจุดที่ เปนที่ประดิษฐานองค์พระพุทธเมตตา คืนตรงที่เชื่อว่าเปนรัตนบัลลังคฺที่พระพุทธองค์ทรงเจริญสมาธิจนกระทั่งสำเร็จ "อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ" ในค่ำคืน วันเพ็ญ...วิสาขบูชา เมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว เหตุการณ์ในวันและค่ำคืนนั้น ใช้เวลาเล่านานครับ เอาเปนว่าสรุปๆได้ว่า เป็นที่มาของพระพุทธรูปปาง "มารวิชัย"(อ่านว่า มาน ระ วิ ชัย แปลว่า มีชัยชนะเหนือมาร" ที่พระพุทธองค์กำลังนั่งสมาธิอยู่ ณ รัตนบัลลังค์ ภายใต้ควงมหาโพธิ์พระยามารพาพลพรรคมาเพื่อขัดขวางการตรัสรู้ พระพุทธองค์ จึงเลื่อนพระหัตถ์ขวาลงชี้พื้นดิน เพื่อเรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาเปนพยาน ตำราไทยว่า เมื่อพระยามารพูดไม่ฟัง พระแม่ธรณี จึงปลดมวยผมลง แล้งบิดน้ำทักษิโณทก ที่พระพุทธองค์กรวดน้ำไว้หลังบำเพ็ญบารมีทุกครั้งมาท่วมท้นเหล่าทัพพระยามารจนพ่ายแพ้ ยอมจำนนต่อพุทธบารมีแต่ก็ได้ทูลขอว่า จะมาขอชีวิตเมื่อถึงเวลาอันเหมาะอันควร ส่วนตำราอินเดีย พระแม่ธรณีถือหม้อน้ำขึ้นมาเปนพยาน
หลังจากนั้น ค่ำคืนเพ็ญวิสาข เจ้าชายสิทธถัตถะ จึงสำเร็จมรรคผล เปน พระพุทธเจ้าโคตโม ในที่สุด (ตอนนี้เราอยู่ใน ภัทรกัลป์ จะมีพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ พุทธกาลองค์ละ 5000 ปี ได้แก่
1 พระกกุสันโธ
2 พระโคนาคมโน
3 พระมหากัสสโป
4 พระโคตโม
และ 5 พระศรีอริยเมตตระโย (พระนามแต่ละพระองค์ มากมายหลายตำรา เรียกต่างกัน ใครจะดูเล่มไหน เลือกเชื่อเล่มไหน ก็ดูก็เชื่อครับ ไม่ต้องมาเถียงกันให้เหนื่อย เกิดไม่ทันสักคน)
ตอนนี้ผ่านไปแล้ว สามพระองค์เราอยู่ในสมัยองค์ที่สี่
หลังจากสักการระพระพุทธเมตตาเรียบร้อยแล้ว คณะของเราก็เดินจงกรมเวียนเทียนทักษณาวัตร(หันไหล่ขวาเข้ารูปเคารพ)รอบพระมหาเจดีย์สามรอบไปหยุดกราบสักการระ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งอยู่ในคอกหิน เข้าไม่ได้ ภายในรั้วหินนั้น มี วัชรอาสน์ ที่พระเจ้าอโศกมาสร้างเอาไว้เพื่อใช้เปนที่สักการระ เพราะ รัตนบัลลังค์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้น ได้หายไป หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงลุกจากรัตนบัลลังค์ เพื่อสังเวยวิมุติสุข ณ สัตตมหาสถานทั้งเจ็ดแห่ง ในสัปดาห์ที่สอง
หลังจากนั้นจึงพาคณะ ไปเดินเยี่ยมชมสัตตมหาสถาน อีกสามแห่งแทนสัปดาห์ที่ สอง สามและหก
สััตตมหาสถาน หมายความถึง สถานที่เสวยวิมุติสุขที่ยิ่งใหญ่ ๗ แห่ง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง) หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว โดยแต่ละแห่งเป็นสถานที่รอบๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาแห่งละ ๑ สัปดาห์ รวม ๗ สัปดาห์ หรือ ๔๙ วัน เรียงตามลำดับดังต่อไปนี้
สัปดาห์ที่หนึ่ง โพธิบัลลังก์ นั่งอยู่ใต้ควงมหาโพธิ์
สัปดาห์ที่สอง อนิมิสเจดีย์ เดินออกไปแล้วหันมาจ้องมหาโพธิ์ โดยไม่กระพริบตา
สัปดาห์ที่สาม รัตนจงกรมเจดีย์ เดินจงกรมระหว่างรัตนบัลลังค์กับมหาโพธิ์
สัปดาห์ที่สี่ รัตนฆรเจดีย์ เทวดามาเนรมิตรัตนบัลลังค์ให้พระพุทธองค์ประทับ
สัปดาห์ที่ห้า ต้นไทรอชปาลนิโครธ สำแดงพุทธบารมีต่อธิดาพระยามารทั้งสาม
สัปดาห์ที่หก สระมุจลินท์ พระยานาคมุจลินทร์ปกป้องพระพุทธองค์จากหยาดฝน
สัปดาห์ที่เจ็ด ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) พ่อค้าพี่น้องถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง แล้วได้เส้นพระเกศาธาตุกลับพม่า ปัจจุบันประดิษฐานที่ พระมหาเจดีย์ชเวดางกอง เมียนมาร์
หลังจากนั้น คณะของเราก็ค่อยๆเดินออกมาช้าๆ อย่างอิ่มเอมในบรรยากาศ ที่เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชน ทุกนิกายทุกประเทศ ที่กำลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นดังระงมไปทั่วบริเวณ เพื่อมุ่งหน้าไปยังวัดไทยพุทธคยาในยามย่ำค่ำ ฟ้าเริ่มสลัว ความมืดเริ่มย่างกรายมากลืนความสว่างที่เคยปกคลุมในบริเวณ เพื่อทำบุญ แต่พอเมื่อเดินทางมาถึงวัดแล้ว ปรากฏว่าไฟในวัดดับ ในขณะที่ข้างนอกยังสว่างไสวอยู่ด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟนานาชนิด
เมื่อรถจอดลง พระสงฆ์รูปนึงซึ่งยืนบัญชาการคนงานอยู่หน้าอุโบสถมืดมิด เดินเข้ามาทักทายแล้วฉายไฟฉาย พาคณะเรา พร้อมพูดคุยสอบถาม ว่ามาจากไหนมากี่วัน มาทำบุญใช่มั้ย เมื่อคณะของเรา ขึ้นมาบนโบสถ์ท่ามกลางแสงจากไฟฉายและโทรศัพท์สำเร็จเรียบร้อยแล้วนั่งลงเพื่อสวดมนต์ เย็นก่อนทำบุญ ทันที ที่คณะเริ่มสวดมนต์ ปรากฏว่าไฟที่ดับมืดสนิท กลับติดสว่างขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเสียงสวดมนต์เงียบลง กำลังจะควักเงินทำบุญกัน ไฟก็ดับมืดลงอีกครั้ง....... จะเปนไร ทำบุญท่ามกลางความมืด หลังจากนั้นพอนำคนโฑน้อยมาเพื่อกรวดน้ำรับพร พอพหลว
พ่อ ว่า ยถา..... ขึ้นมา ไฟก็ติดอีกครั้ง ทำให้รู้สึกขนลุกขึ้นมาเลยทีเดียว หลังจากนั้นหลวงพ่อก็ทรงเทศน์ถึงความกตัญญู เมื่อทราบว่า ทริปนี้ลูกชายคนโตจัดขึ้นเพื่อได้พาคุณพ่อซึ่งอายุมากแล้วมาเพื่อทำบุญในเส้นสังเวชนียสถาน พร้อมทั้งให้พรมากมายและพระเครื่องมาเปนรฤกคนละองค์
ค่ำคืน สิบสี่ค่ำ เดือนสามสิ้นสุดลงด้วยความอิ่มเอม..... บนที่นอนหนานุ่ม พร้อมจินตนาการถึงการแสวงบุญ ในวันรุ่งขึ้น ในคืนเพ็ญเดือนสาม มาฆบูชา ณ เวฬุวันสถาน สถานที่ พระพุทธองค์แสดงโอวาทปาติโมกข์ จริงๆ ในวันเพ็ญเดือนสาม เมื่อสองพันห้าร้อยห้าสิบแปดปีที่แล้ว......ในกรุงราชคฤห์ เมืองแห่งพระเจ้าโพธิสาร ผู้อุปการะพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ในห้วงพุทธกาล
เปลือกตาแห่งกายหยาบค่อยๆมีน้ำหนักเพ่ิมขึ้น ถ่วงเปลือกตาบนให้ร่วงหล่นลงจนปิดสนิท ลมหายใจเริ่มสม่ำเสมอ หากแต่...... ดวงตาแห่งกายละเอียดกลับเริ่มเผยอขึ้นเพื่อรับรู้ ธรรม ที่แท้จริง ของพระพุทธองค์เพื่อเปนแนวทางในการดำเนินชีวิต ต่อไปในภายภาคหน้า มิใช่หวังจะน้อมนำไปใช้ในชาติหน้า แต่จักนำไปใช้ในกาลปัจจุบันดังคำสอนของพระพุทธองค์
ราตรีนี้คงมิยาวนาน......
โปรดติดตามตอนต่อไป
แย้ปปี้ ไกด์บ้าพาเที่ยว
Drunken_Writer
23-02-14, 11:21 PM
ตามรอยบาท พระศาสดา #4-1
"เมื่อ คนที่ไม่ค่อยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่าง "ไกด์บ้า พาเที่ยว" ต้องพาผู้ศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ไปแสวงบุญตามรอยเบื้องบาทพระศาสดา มหาบุรุษเอกของโลก ในดินแดนแห่งสังเวชนียสถานสี่ (อินเดีย-เนปาล) ดวงตาแห่งธรรม จึงก่อกำเนิดขึ้นในหัวใจ...."
---------------------------------------------------------------------------------
ตอนที่ สาม ช่วงแรก
มาฆบูชา ณ เวฬุวัน ......
แสงอาทิตย์ยามเช้า ณ พุทธคยา ค่อยๆสาดส่องมาจางๆ ท่ามกลางหมอกหม่น อากาศเย็น คล่อยเคลื่อน เลื่อนมากระทบผิวหน้าจนรู้สึกเย็นเฉียบชื้นแฉะ ยามมายืนกินบรรยากาศด้านหน้าโรงแรม แต่ก็ทำมิวสิคอยู่ไม่ได้นาน เพราะมีภารกิจที่จะต้องทำในช้านี้ เหมือนกับสองมื้อที่ผ่านมา ก็คืน จำกลงร่างจากหัวหน้าทัวร์ไปเปน "กุ๊ก" ครับ อ่านไม่ผิด คนปรุงอาหารนั่นแหล่ะ อาจจต้องเปนคุณสมบัติข้อแรกๆของหัวหน้าทัวร์ที่จะพาคณะมาประเทศอินเดียเลยที่เดียว เพราะอาหารอินเดียโดยส่วนใหญ่แล้วจะมิใคร่ ถูกปาก นักท่องเที่ยวชาวไทยสักเท่าใด เพราะอุดมไปด้วยเครื่องเทศตลบอบอวลด้วย "รสชาติ" และ "กลิ่น"แบบอินเดีย ดังนั้น ในทุกมื้อ ทางบริษัททัวร์จึงจัดเตรียมอาหารไทยรสมือหัวหน้าทัวร์มาบริการเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับประทาน (สังเกตุได้จากที่สนามบินที่ กระเป๋าใส่อาหารสด อาหารแห้งและเครื่องปรุงนานาชนิดของหัวหน้าทัวร์ มักจะใหญ่และมีจำนวนมากมายเสมอ) มื้อนี้ผมบริการเพิ่มเติมด้วย กุนเชียงทอด ปลาสลิดทอดและยำผักกาดดอง เพราะที่อินเดียในเส้นสังเวชนียสถานสี่ อาหารเช้าจะมีข้าวต้มให้ทานเสมอ
หลังจากอิ่มหนำสำราญดีแล้ว 0800 เราก็ออกเดินทางไปยัง กรุงราชคฤห์ซึ่งห่างไปราว สามถึงสี่ ชม. (ที่อินเดีย ให้ถามระยะทางเปนชม.ครับ อย่าถามเปนกิโล เพราะจะไม่รู้เวลาที่จะเดินทางไปถึง) ระหว่างทางความกังวลในการเดินทางมีมากมาย เพราะการจราจรที่ไม่มีระเบียบวินัย เรียกว่าวัดใจกันตลอดทุกวินาที
เทมโปของเราทำความเร็วมาอย่างช้าๆในถนนสองเลนรถสวน คณะก็ถามพุทธประวัติมาเรื่อยๆ ตลอดการเดินทางสลับประวัติศาสตร์ไทยยุคต่างๆตามแต่ที่จะเปิดประเด็นคุยกันระหว่างทางเราเห็นบ้านดินที่ชาวอินเดียอยู่กันแบบนี้มานาน รวมถึง ก้อนขี้วัวที่ปั้นเปนก้อนๆกลมๆแล้วแปะไว้ตามฝาบ้านเพื่อตากแห้งสำหรับนำไปเปนเชื้อเพลิงตลอดทั้งปี เราจะเห็นภาพแบบนี้ตลอดเส้นทางในทริปนี้ สำหรับชาวฮินดู วัว เปนมากกว่า สัตว์พาหนะของพระศิวะ เปนมากกว่าเทพบุตรนนทิ แต่เปนทุกอย่างของชีวิต ทั้งให้น้ำนม อันจะมาทำอาหาร ทำเนยใส่ ทำเนยทำชีส ทำโยเกิร์ต เปนโรงงายผลิตเชื้อเพลิงอย่างดี ความผูกพันระหว่างคน-วัว จึงเกินจะบรรยายได้ทั้งหมด
ผ่านไปราวสองชม. ก่อนจะถึงเมืองราชคฤห์ เทมโปก็พาคณะของพวกเรามาจอดอยู่หน้าวัดธรรมิกราช ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างเพื่อเข้าห้องน้ำ ห้องน้ำที่วัดนี้สะอาดมาก มากกว่า โรงแรมเสียอีก (วัดนี้เคยโดนอินเดียปล้นมาแล้วสองครั้ง แต่หลวงพ่อใจสู้ไม่ยอมแพ้)
บรรยากาศฝนตกโปรยบางๆในอากาศเย็นยะเยือก ทำให้ทุกคนรีบลงจากรถแล้วเข้าห้องน้ำกันทั่วถ้วนหน้า หลังจากนั้นก็ออกมาแวะทำบุญก่อนเดินทางมุ่งหน้าต่อไปยังกรุงราชคฤห์เก่า หรือในอีกนามนึง "เบญจคีรีนคร" แห่งพระเจ้าพิมพิสาร เมืองที่เปนเป้าประสงค์ของพระพุทธองค์ที่จะเผยแผ่ศาสนาพุทธอย่างมั่นคงลงหลักปักฐานเปนที่แรกในชมพูทวีป หลังจากตรัสรู้
เหตุใด พระองค์จึงไปกลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กรุงกบิลพัทธ์บ้านเกิดเมืองนอน คำถามนี้ ลอยมาในหัวสมอง คำตอบจักได้เล่าให้อ่านกันต่อไป ติดตาม!!!!
แนวเขาที่เห็นอยู่ลิบๆ เมื่อสักครู่นี้ค่อยๆขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ตามระยะทางที่ใกล้เข้าไปทุกขณะ ฝนขาดเม็ดไปแล้ว แต่ท้องฟ้ายังคงครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่ เทมโปของคณะเรายังคงวิ่งต่อเนื่องไปด้วยความเร็วเกือบคงที่ เมื่อเข้าสู่เขตเมืองราชคฤห์โบราณ ก็ปรากฏแนวเขาปรากฏอยู่ทั้งทางซ้ายและทางขวามือ เทมโปค่อยๆชลอความเร็วและจอดสนิทที่ข้างถนน คณะสงสัยอดถามไว่ได้ว่า "ทำไมถึงหยุดรถล่ะ"
ผมตอบไปว่า "อ่อ...ตรงนี้เปนรอยเกวียนโบราณครับ เดี๋ยวพาลงไปชมครับ" และอธิบายต่อเนื่องไปว่า "กรุงราชคฤห์ในอดีต เปนจุดศูนย์กลางการค้าขายของแคว้นๆนี้ล่ะครับ เกวียนพ่อค้าจากทุกสารทิศก็มุ่งหน้ามาทางนี้ จึงมีการสร้างทางเกวียนขึ้นเพื่อเดินทางขนของมาได้ง่ายขึ้น ที่ตรงนี้เปนจุดที่ยังคงสภาพที่เห็นได้ชัดครับ" แล้วผมก็เดินนำสมาชิกลงไปชม
กรุงราชคฤห์ จุดหมายของพวกเราในวันนี้เปนกรุงราชคฤห์ใหม่ครับ ย้ายออกมาสมัยพระเจ้าอชาตศัตรู พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารที่ทำปิตุฆาต ตามคำยุยง ของพระเทวทัต แต่ที่เรากำลังจะผ่านไปตอนนี้ เปนกรุงราชคฤห์โบราณ ที่เปนเมืองหลวงของแคว้นของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้เปนองค์พุทธศาสนูปถัมป์ในสมัยพุทธกาล ที่เมืองนี้มีอีกชื่อว่า เบญจคีรีนคร เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบอยู่ถึงห้าลูก เปนปราการทางธรรมชาติ ทำให้กรุงราชคฤห์เปนสถานที่ที่เจริญรุ่งเรืองเปนอย่างมาก
ออกจากรอยเกวียนโบราณมาสักห้านาที เราก็ผ่านโบราณสถานที่ถูกกำหนดว่า เปนโรงพยาบาลของหมอ "ชีวกโกมารภัทร แพทย์ประจำพระพุทธองค์ "ชีวก"แปลว่ายังไม่ตาย "โกมารภัทร" แปลว่าเจ้าชายเลี้ยง เพราะ เมื่อถือกำเนิดมาแล้ว แม่ซึ่งเปนโสเภณีก็ เอามาทิ้งแล้วได้พระโอสของพระเจ้าพิมพิสารมานำไปเลี้ยง เมื่อโตขึ้นรู้ชาติกำเนิดตัวเอง จึงตัดสินใจไปเรียนวิชาแพทย์ที่สำนักตักศิลา เมื่อสำเร็จมาแล้วมีโอกาสได้รักษาพระเจ้าพิมพิสาร และได้มาเปนหมอประจำพระองค์ในที่สุด
ผ่านรพ.มาชั่วอึดใจ เทมโปของเราก็มาเบรคเอี้ยดจอดตรงทางขึ้น เชิงเขา "คิชกูฏ" ซึ่งทริปนี้เราได้จองเสลี่ยงเอาไว้หนึ่งเสลี่ยง สนนราคาค่าบริการ 1400 รูปี สำหรับคุณพ่อผู้สูงอายุของเรา เสลี่ยงแบกสองคน มีคานบนเปนไม้ไผ่ลำเบ่อเร่อ ส่วนตรงที่นั่งเปนไม้ไผ่สาน ดูน่าสนุกทีเดียว พวกเราที่เหลือค่อยๆเดินขึ้นมาตามทางเดินซึ่งปูอิฐเอาไว้อย่างดี ทางขึ้นนี้ เรียกว่า "ถนนพระเจ้าพิมพิสาร" ซึ่งเชื่อว่า พระเจ้าพิมพิสารสร้างขึ้นเพื่อขึ้นไปสักการะพระพุทธองค์ได้ง่าย ที่ยอดเขาคิชกูฏ (แปลว่ายอดเขาอีแร้ง อาจเปนเพราะมีหินรูปหัวนกอีแร้งอยู่ที่ยอดเขา หรืออาจจะเปนที่ ที่นักโทษโดนประหารแล้วทิ้งศพไว้จนมีอีแร้งจำนวนมาก) เปนที่ประทับของพระพุทธองค์ ที่พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อให้ ประชาชนในกรุงราชคฤหฺ์ได้เดินทางมาสักการะได้โดยง่าย แต่ต้องไม่เปนการรบกวนพระพุทธองค์ในการบำเพ็ญเพียร
ในการเดินขึ้นไปจนถึงยอดใช้เวลาไม่นานครับ ทางไม่ชันมาก ใช้เวลาราว 20-30นาทีก็เดินขึ้นไปถึง ไม่เหนื่อยครับ ลมเย็นๆพัดโชยตลอดทุกก้าวย่างที่มีจุดมุ่งหมาย ณ ยอดเขาคิชกูฏ ตลอดเส้นทางเดินขึ้น ภาพของ เบญจคีรีนคร ก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า(ทางฝั่งขวา)อย่างชัดเจน ภาพของ ที่ราบระหว่างห้าขุนเขาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเปนป่าเขียวขจี งดงามเกินคำบรรยาย นี่หรือ คือเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองเปนอย่างมากในสมัยพุทธกาล
ระหว่างทาง เราจะพบฐานเจดีย์ใหญ่สององค์ องค์แรกเชื่อว่าเปนที่พระเจ้าพิมพิสารลงจากเสลี่ยง องค์ที่สองเปนที่พระเจ้าพิมพิสาร สั่งให้ข้าราชบริพาร เลิกติดตามแล้วขึ้นไปเฝ้าพระพุทธองค์ตามลำพัง ก่อนถึงยอดเขา มีถ้ำทางขวามือสองถ้ำ เชื่อว่าเปนถ้ำที่พระสารีบุตร สำเร็จพระอรหันต์ และอีกถ้ำเปนถ้ำที่พระโมคคัลลานะ สำเร็จพระอรหันต์ จากตรงจุดปากถ้ำที่สอง ใช้เวลาเดินอีกห้านาทีก็ถึงยอดเขา อันเปนที่ตั้งของมูลคันธกุฎี ที่เปนที่ประทับของพระพุทธองค์ ใกล้ๆกันนั้น ก็เปนกุฏิของพระอานนท์ สาวกผู้รับใช้ใกล้ชิดที่อยู่กับพระพุทธองค์ตลอดเวลา จนพระพุทธองค์เคยตรัสไว้ก่อนดับขันธ์ปรินิพพานว่า "หากอยากฟังธรรมของคถาคต ให้ถามพระอานนท์"
เมื่อคณะของเราทำสวดมนต์ทำบุญเสร็จแล้วก็ทยอยเดินลงมาจากยอดเขา สายฝนเริ่มโปรยปรายลงมาบางๆ ดุจดั่งน้ำพระพุทธมนต์ที่ประพรมลงมาที่คณะผู้แสวงบุญของเรา
ระหว่างทางเดินลง มีขอทานออกมาขอเงินจากนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินลงมาจากการทำบุญ น่าแปลกใจที่ขาขึ้น ขอทานเหล่านี้ไม่มากวนใจพวกเราเลยแม้แต่นิดเดียว
เรากลับมาขึ้น เทมโปคันเก่ง แล้วออกเดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองราชคฤห์ใหม่ โดยคณะตัดสินใจไม่แวะชม "คุกขังพระเจ้าพิมพิสาร" เพราะตอนนี้เวลาล่วงเลยยามเที่ยงไปพอสมควรแล้ว พยาธิในท้องกำลังโอดครวญ เรียกร้องหาของอร่อยๆ เราจึงมุ่งหน้าควบปุเลงปุเลง ไปยังโรงแรมที่พักของพวกเรา
อีกสักพัก....หลังท้องอิ่มหนำสำราญดีแล้ว คงจะได้พาทุกคนไปสักการะหลวงพ่อดำและเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยสงฆ์ "นาลันทา" ที่ใหญ่ที่สุดในอดีตกาล ขากลับจะได้แวะชมธารน้ำร้อนโปตาธารที่เปนที่อาบน้ำตามชนชันวรรณของชาวฮินดูมาเนิ่นนาน และสุดท้าย จะได้พาคณะที่น่ารัก เข้าไปสวดมนต์ ณ วัดพุทธศาสนาแห่งแรกในพุทธตำนาน "วัดเวฬุวัน" ในวันสำคัญยิ่งทางศาสนา หนึ่งในสามวัน คือ วันเพ็ญเดือนสาม มาฆบูชา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมก์กับพระอรหันต์ 1250 องค์ ซึ่งเปน เอหิภิกขุอุปสัมปทาน ที่มาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ตรงกับวันนี้ เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว........
ตอนนี้ขอตัวไปเข้าครัวก่อนนะครับ มื้อนี้ บริการเขียวหวานไก่รสเลิศ ตามรสมือ สไตล์ ไกด์บ้าพาเที่ยวคร้าบ
เดี๋ยวมาเล่าต่อ โปรดติดตาม
แย้ปปี้ ไกด์บ้า พาเที่ยว
ตาเกิ้น
24-02-14, 08:29 AM
:2TU:
ขอรูปประกอบบ้างซิครับ นึกภาพตามไม่ออกอ่ะ
Drunken_Writer
24-02-14, 11:51 PM
ในไอแพดมันก้อบลิงค์รูปจากเฟสไม่ได้อะคับ พี่ตาเกิ้น หรือว่า ผมทำไม่เปนหว่า อุอุอุ
ตอนนี้ อ่านเพียวๆไปก่อนครับ เเดี๋ยวเขียนเสร็จลงรูปเล่มให้อ่านกันครับ
Drunken_Writer
25-02-14, 12:21 AM
ตามรอยบาท พระศาสดา #4-2
"เมื่อ คนที่ไม่ค่อยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่าง "ไกด์บ้า พาเที่ยว" ต้องพาผู้ศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ไปแสวงบุญตามรอยเบื้องบาทพระศาสดา มหาบุรุษเอกของโลก ในดินแดนแห่งสังเวชนียสถานสี่ (อินเดีย-เนปาล) ดวงตาแห่งธรรม จึงก่อกำเนิดขึ้นในหัวใจ...."
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ตอนที่สาม ช่วงสอง..
หลังจากที่อิ่มหนำสำราญกันเรียบร้อยแล้ว เวลาก็ล่วงเลยมาราวบ่ายโมงกว่า คณะของเราจึงรีบกลับมาขึ้นเทมโป เพื่อเดินทางต่อไปยัง มหาวิทยาลัย"นาลันทา" มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้น ณ ที่นี้ เปนที่เกิดและที่นิพพานของอัครสาวก เบื้องขวา "พระสารีบุตร" และหลังจากสมัยพุทธกาล ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช "นาลันทา" จึงถูกยกฐานะเปนพื้นที่ในพระบรมราชูปถัมป์ของพระเจ้าอโศก ทำให้ พระสงฆ์ทั่วทุกสารทิศมีความต้องการและความเพียรที่จะมาเรียนอยุ่ที่นี่ จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าคุปตะจึงได้ถูกยกขึ้นเปน นาลันทามหาวิหาร หรือมหาวิทยาลัยนาลัยทา นั่นเอง
ต่อมา มีพระสงฆ์จีนได้เขามาเรียนและบันทึกเอาไว้ว่า นาลันทานั้นมี พระนักศึกษาถึงหมื่นรูป พระอาจารย์มีถึงหนึ่งพันรูป มีคนทำครัวคอยดูแลหลายร้อยคน ดดยค่าใข้จ่ายทั้งหมด พระมหากษัตริย์้เปนผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด พระเรียนฟรี
พระรูปนี้ คนไทยรู้จักกันดีในวรรณกรรมชั้นยอดของจีนที่ชื่อว่า "ไซอิ๋ว" พระสงฆ์รูปที่ว่า มีนามว่า "พระถังซำจั๋ง" ยังไงล่ะครับ
แต่เมื่อมีเกิด ก็ย่อมมีดับเปนธรรมดา "มหาวิทยาลัยนาลันทา" ถึงคราวล่มสบาย เมื่อพวกเติร์ก ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามบุกเข้ามาในดินแดนชมพูทวีป และเมื่อยกทัพมาถึงนาลันทา ความเสียหายอย่างย่อยยับก็บังเกิดขึ้น พระอาจารย์บางรูปหนีข้ามหิมาลัยไปอยู่ในดินแดนธิเบต ศาสนาพุธจึงได้ไปหยั่งรากลึกในดินแดนธิเบตนับแต่นั้นมา
เทมโปของคณะเรา วิ่งปุเลงๆปาดซ้ายป่ายขวา ตามสไตล์การขับรถของชาวอินเดีย ที่จะทำให้เราได้ลุ้นเสียวอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับบีบแตรปิ้นป๊าน ปุ๊นแป๊น ตลอดเวลา จนถึงขนาดว่า เก็บเอาไปฝันเลยทีเดียว ระหว่างทางก่อนจะถึง เมือง "นาลกะ" ในสมัยพุทธกาล หรือนาลันทาในปัจจุับน เราได้ผ่านชุมชนใหญ่ๆซึ่งเปนที่ต้ั้งของ สถานีรถไฟและสถานีรถโดยสาร สองสามแห่ง แต่มีที่น่าสนใจอยู่แห่งนึ่ง เปนที่น่าแปลกใจของคณะว่า ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของถนน มีของกินขายอยุ่อย่างเดียว มีลักษณะเปนแป้งทอดจนกรอบๆ เหลืองๆ จึงถาม ลาวินดาร์ ว่า นั่น คืออะไร ลาวิน บอกว่า นั่นคือขนมชนินึง ซึ่งมีขายเฉพาะที่เมืองนาลันทาเท่านั้น ที่อื่นๆที่มีขายส่วนใหญ่ก็รับไปจากที่นี่ ขนมชนิดนี้เรียกว่า คาชา หรือ กายา แล้วแต่จะออกเสียงกัน แต่ตอนที่ผมถาม สงสัยรถไฟจะเข้าพอดี คนเยอะและรถติดมาก ก็เลย ผ่านมาด้วยความเสียดาย ก็อยากลองโอทอป อินเดียนี่นาว่ารสชาตเปนยังไง....น้ำลายแทบไหลเมื่อเห็นชาวอินเดีย ที่ยืนอยุ่ริมถนน ทำหน้าตาเอร็ดอร่อย เคี้ยวคาชา อยู่กร้วมๆ
ก่อนที่น้ำลายจะท่วมรถ เทมโปของเราก็ปาดซ้ายป่ายขวาแล้วเลี้ยวเข้าไปในซอยซึ่งเปนถนนคอนกรีต(อ่านว่า คอน-กรีด)เสริมเหล็กอย่างเรียบ ซึ่งแทบจะไม่่เจอเลยในสองวันที่เราเข้ามาอยู่ในแดนภารตะนี้ ผมก็สงสัยว่าเราจะไปไหน ในเมื่อทางเข้านาลันทา เราเพิ่งวิ่งผ่านมาเมื่อกี้ (ก็คนเพิ่งเคยมา) ลาวินเห็นผมหน้านิ่วคิ้วขมวด จึงบอกว่า เดี๋ยวพาไปไหว้หลวงพ่อหินดำ หรือหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่รอดพ้นจากการทำลายของพวกเติร์กในคราวนาลันทาล่มสลายนั่นเอง ถ้าหากมาด้วยรถบัสขนาดใหญ่ เราต้องเดินเข้ามาหรือไม่ก็นั่งรถม้าเข้ามา เหมือนกับคณะคนไทยที่กำลังนั่งรถม้านำหน้าเทมโปเราเข้าไป ส่วนของเราใช้เทมโปเข้าไปด้านในได้เลย สบายไป....
พอรถจอด ผมก็เนียนๆ พา สมาชิกเดินตามคณะที่นั่งรถม้ามาเพราะมีพระมาด้วย (คณะนี้เจอกันไปอีกหลายที่ ผมก็เนียนเข้าไปสวดมนต์ร่วมด้วยหลายที่เหมือนกัน อิอิอิ) พอถึงหน้าอาคารพบตำรวจอินเดียสะพายปืนยาวรุ่นพระเจ้าเหา เฝ้าอยู่ห้า-หกคน พอเริ่มเดิน คณะก็นิมนต์หลวงพ่อเฉยลงประทับทรงทันที เพราะมีเด็กๆชาวอินเดียมารอนักท่องเที่ยวเยอะแยะมากมาย เราเห็นตั้งแต่ พวกเด็กๆวิ่งตามรถม้า ช่วยดันรถม้ามาตั้งแต่ปากซอยแล้ว (กลัวจะตายว่าจะล้มมาเข้าล้อเทมโปของเรา) พอถึงหน้าหลวงพ่อดำ ก็เห็นพระพุทธรูปศิลปอินเดียรุ่นเก่า ตามเอกสารว่าศิลปแบบปาละ มีจีวรพริ้วแนบเนื้อตามทรวดทรง แต่วันนี้ไม่สามารถมองเห็นความงามขององค์พระท่านได้ เพราะถูกปกคลุมไปด้วยจีวรเหลืองอ๋อยและกองดอกไม้บูชาที่มีขายอยู่รอบนอก พวงละยี่สิบ อีกอย่างนึง ชื่อที่คนอินเดียเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ แปลว่า พระพุทธรูปน้ำมัน ก็เลยมีการซื้อน้ำมันมา ทาๆถูๆ องค์พระพุทธรูป นัยว่า เจ็บปวด ป่วยไข้ตรงไหนก็ทาตรงนั้นแล้วจะหาย ผมก็ไม่เข้าใจว่าาใครเริ่ม แต่มันก็เปนที่นิยไปเปนที่เรียบร้อยแล้ว แต่ผมไม่ยักกะโปรดความเชื่ออะไรแบบนี้ครับ เจ็บปวดก็ต้องไปหาหมอ จะได้รักษา เนาะ!!!!!
ไหว้พระเสร็จ คณะของเราก็รีบกลับมาขึ้นเทมโปเพื่อกลับไปยังทางเข้ามหาวิทยาลัยนาลันทา ก่อนที่คณะใหญ่จะเข้าไป....พอเดินออกมาเท่านั้นแหล่ะ ตร.ทั้งห้าหกคนที่่ เราเห็นเมื่อสักครู่นี้ก็เดินเข้ามา ประมาณว่า ขอเงินใช้ หลวงพ่อเฉยยังคงเมตตาพวกเรา ตร.ทั้งหมด รวมถึงเด็กๆ เบี่ยงความสนใจไปหาคณะใหญ่ ที่ดูล่ำซำกว่าพวกเรา.....แต่ไม่รอดหรอกครับวันนี้ เรื่องโดนไถ เริ่มจะชินแล้ว ก็เราอยู่ในรัฐพิหาร รัฐที่จนที่สุดของอินเดียนี่ครับ
พอเรากลับมาถึงทางเข้ามหาวิทยาลัยนาลันทา ทางเดินสะอาดสะอ้าน ซ้ายขวาเปนสนามขนาดใหญ่ แต่พอผ่านประตูที่ผ่านกำแพงก่อสร้างด้วยอิฐเปนแนวยาวและหนาไปเกือบจะสุดสายตาทั้งทางซ้ายและทางขวา ผมก็สัมผัสได้ถึงความใหญ่โตของสถานที่ ที่เคยรองรับคนกว่าหมื่นคนในแต่ละวัน กำแพงหนา แต่ดูสงบ สง่า มีมิติความเรียบง่ายในความซับซ้อน การออกแบบมีการแบ่งออกเปนห้องๆสำหรับการปฏิบัติ โดยรอบพื้นที่กลางโล่ง เปนอะไรที่ลงตัว อย่างบอกไม่ถูก ลายแกะสลักหินทรายบางส่วนที่ยังคงปรากฏอยู่บนอาคารหลังจากการบูรณะ ได้สำแดงให้เห็นถึงความละเมียดลมัยในการก่อสร้างที่ต้องมาจากศรัทธาในหัวใจของผู้สร้างเท่านั้น เดินชมไปได้ไม่ไกลนัก ยังไม่ทั่ว แต่เวลาของเราก้มีไม่มากพอ เพราะยังเหลืออีกสองที่ที่เราต้องเข้าเยี่ยมชมให้จบโปรแกรมในวันนี้ คณะของเราจึงค่อยๆถอนตัวออกมาจาก ความสงบเรียบง่าย อย่างเสียดายลึกๆ เพราะยังอยากอยู่กันอีกนานๆ
ขากลับ เพื่อสานฝันของผมและคณะที่แอบเล็งตอนขามาจึงบอกให้คนขับรถจอดรถตรงสามแยกหน้าสถานีรถไฟที่เมื่อกี้เราเห้นคนกินคาชา อย่างเอร็ดอร่อย แล้วให้ ลาวิน ไปซื้อมาให้พวกเราชิม คาชา มีทั้งแบบหวานและแบบเค็ม แบบเค็มอร่อยกว่าครับ ลักษณะเหมือนพายกรอบ ชิ้นใหญ่ๆ กัดปุ้บแตกปั้บกระจายเต็มตักกันทุกคน เสียงชื่นชมรสชาติ เรียกถุงใส่คาชา เดี่ยวหวาน เดี๋ยวเค็มลั่นรถพร้อมเสียงหัวเราะลั่น ดังมาตลอดทางจนกระทั่งขนมหมด....
ใช้เวลาเหมือนไม่นาน เพราะพวกเราใช้เวลากับความอร่อยของคาชา เทมโปของเราก็กลับมาถึง ธารน้ำร้อนโปตาธาร ซึ่งอยู่ด้านนอกตัวเมืองราชคฤห์โบราณ เปนธารน้ำร้อนที่ชาวฮินดูมาอาบน้ำกันที่นี่ ในอดีต จะแบ่งการอาบตามชนชั้นวรรณ ณ ที่นี่ มีบันทึกในตำนานพุทธประวัติ ว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารทรงเสด็จมาเพื่อสรงน้ำที่นี่ ปรากฏว่ามีพระสงฆ์สรงน้ำอยุ่ พระองค์จึงรออยู่ด้านนอก พระสงฆ์อาบน้ำเพลินเพราะช่วงนั้นอากาศเย็น ทำให้พระเจ้าพิมพิสารรอจนถึงเวลาเย็น เมื่อสรงน้ำเสร็จไม่สามารถเข้าเมืองได้ต้องประทับอยู่ด้านนอก... ในภายหลัง เมื่อพระพุทธองค์ทราบเรื่อง จึงมีกฏให้สงฆ์ปฏิบัติคือ ให้อาบน้ำได้ สิบห้าวันต่อครั้งเท่านั้น .....
สภาพในปัจจุบัน เมื่อเดินไปถึง เราจะพบบ่อน้ำที่มีท่อน้ำต่อมาจากด้านใน ซึ่งที่บ่อนี้ น้ำก้ดำๆคล้้ำ แต่ก็ยังมีคนลงไปอาบน้ำสระผม ซักผ้า ล้างอุปกรณ์โน่นนี่นั่น ในบ่อเดียวกันนั่นแหล่ะ ถ้าในอดีต คงมีแต่ชนชั้น "จัณฑาล" เท่านั้น ที่มาใช้ เดินขึ้นบันไดไปราวสามสิบขึ้น เราก็พบห้องโล่งขนาดใหญ่่ มีท่อน้ำต่อมาจากธารน้ำร้อน ไหลตลอดเวลา และมีชาวฮินดูจำนวนมาก อาบน้ำกันอยู่ ที่จุดนี้ ห้ามใช้น้ำยาทำความสะอาดทุกประเภทครับ น้ำใสแจ๋วและร้อนพอคร เพราะผมเห็นมีไอความร้อนลอยคละคลุ้งอยุ่ทั่วบริเวณห้องนี้ด้วย
มองซ้ายมองขวา มองหน้ามองหลัง ไม่มีอะไรแล้วนี่นา ไปต่อกันดีกว่าครับ ก็เลยชวนคณะเดินทางกันต่อพอเราเดินกลับมาที่เทมโปคันเก่ง มีตำรวจอินเดีย พกอาวุธประจำกายเปนหวายท่อนยาว เส้นผ่าศูนย์กลางราวหนึ่งนิ้ว (ตร.อินเดียพกอันนี้แหล่ะเปนอาวุธควบคุมฝูงชน ไม่เหมือนตร.ไทยหรอกครับ ปากบอกว่าไม่มีอาวุธ แต่........มันถือ......) เดินตามพวกเรามาจนถึงรถ สุดท้ายไถตังครับ....คณะเราตัดรำคาญให้ไปคนละห้าสิบรูปี สามคน จบ เดินทางต่อ
และแล้วก็ถึงเวลาสำคัญที่ผมจะพาคณะผู้เสวงบุญทุกท่านเข้าไปใน "วัดเวฬุวัน" วัดแห่งแรกในพุทธศาสนา
สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือนสาม "มาฆบูชา" เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว ทางจันทรคติ ตรงกับวันนี้ล่ะครับ วันที่ สิบสี่กุมภาพันธ์พุทธศักราชสองพันห้าร้อยห้าสิบเจ็ด .....
ในใจคิดอยู่ว่า....จะทำอย่างไรดี ที่จะทำ มาฆบูชา สำหรับผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า คณะนี้ มีความหมายมากกว่า มาฆบูชา ที่ผ่านๆมา......ทำยังไงดีหนอ คิดสิ คิด!!!!
คิดออกแล้ว.........
โปรดติดตามตอนต่อไป
แย้ปปี้ ไกด์บ้าพาเที่ยว
Drunken_Writer
25-02-14, 10:09 PM
ตามรอยบาท พระศาสดา #4-3
"เมื่อ คนที่ไม่ค่อยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่าง "ไกด์บ้า พาเที่ยว" ต้องพาผู้ศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ไปแสวงบุญตามรอยเบื้องบาทพระศาสดา มหาบุรุษเอกของโลก ในดินแดนแห่งสังเวชนียสถานสี่ (อินเดีย-เนปาล) ดวงตาแห่งธรรม จึงก่อกำเนิดขึ้นในหัวใจ...."
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ตอนที่สาม ช่วงสาม
ครับ คิดออกแล้ว.... คิดว่าจะทำอย่างไรดี ในวันมาฆบูชา เพื่อให้คณะผู้เดินทางผู็มีศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนา ผู้น่ารักทั้งเจ็ดท่าน ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ในวันนี้
เมื่ออกมาจากน้ำร้อนโปตาธาร ผมก็บอกให้ ลาวิน มุ่งหน้าไปยังวัดไทยสิริราชคฤห์ ซึ่งผมรู้แล้ว่า่ เอสคอร์ทของผมคนนี้ไม่ธรรมดา เค้าเดินทางเส้นทางนี้จนชำนาญและมีคนรู้จักไปทั่ว สรุปทุกวัดไทยในเส้นทางสี่สังเวชนียสถานนี้ ลาวินมีพันธมิตร สนิทหมด ทั้งโรงแรม ทั้งวัด... และที่นี่เช่นเดียวกัน ลาวินโทรไปยังวัดไทยสิริราชคฤห์ล่วงหน้าแล้วระหว่างที่รอพวกเราเดินลงมาจากดปตาธาร เพื่อขอนิมนต์ พระสงฆ์รูปหนึ่ง ที่สนิทกัน ตามคำร้องขอของผม ที่ต้องการให้มีพระสงฆ์นำสวดในวันมาฆบูชานี้สำหรับคณะของเรา เพราะคณะเราไม่มีพระสงฆ์เดินทางมาร่วมกับคณะ ในแต่ละที่นั้นเปนการทำบุญสวดมนต์กันแบบธรรมดาๆ
เมื่อถึงวัด หลวงพี่ก็มารออยู่แล้ว จึงนิมนต์ท่านขึ้นเทมโปของเรามาแล้วย้อนกลับไปยัง วัดเวฬุวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก
สักครู่หนึ่ง เทมโปของเราก็มาจอดอยู่หน้าวัดเวฬุวัน แล้วก็เดินตามหลวงพี่เข้าไปด้านใน ทีนี้ ผมก็ปล่อยให้หลวงพี่บรรยายไป เพราะอยากให้เปนบรรยากาศแห่งศาสนสถานโดยแท้
วัดเวฬุวันนั้น แต่เดิมเป็น อุทยานหลวงของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้ยกให้เปนสวนกระแต เนื่องจาก ตอนที่พระองค์ทรงมาพักผ่อนอิริยาบท ณ สถานที่แห่งนี้ ได้เสวยน้ำจัณฑจนเกิดอาการมึนเมาหลับไป แล้วมี อสรพิษ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้กลิ่นพระองค์คิดว่าเปนก้อนเนื้ออันมีรสโอชะ จึงเลื้อยออกมาเพื่อจะกัดพระองค์ หมู่กระรอกกระแตที่อาศัยอยู่ในสวนได้เห็นดังนั้น จึงร้องแรกแหกกระเฌอ จนพระองค์ตื่นขึ้น แล้วงูพิษก็เลื้อยหนีไป พระองค์จึงประกาศให้เขตสวนป่าไผ่แห่งนี้ เปนเขตอภัยทานสำหรับกระรอกกระแต พวกนี้ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ จึงทรงถวายพื้นที่นี้ เพื่อให้เปนที่ประทับของพระพุทธองค์ในเมืองราชคฤห์ จึงถือว่า ที่นี่ เปนวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา..
ทำไม พระเจ้าพิมพิสารถึงมีศรัทธาในพุทธศาสนาขนาดนั้นล่ะ ย้อนกลับไปสักนิดนะครับ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตัรสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และสังเวบวิมุตสุขจนครบ สี่สิบเก้าวันแล้ว
พระองค์ทรงนึกถึง ผู้มีพระคุณก่อนคือ "อาฬารดาบส กาลามโคตร" พระอาจารย์ที่สั่งสอนพระองค์จนสำเร็จสมาบัติเจ็ด ได้รูปฌานสี่ อรูปฌานสามและ "อุททกดาบส รามบุตร" พระอาจารย์ที่สั่งสอนพระองค์จนสำเร็จสมาบัติแปด แต่พระอาจารย์ทั้งสองท่านเสียชีวิตไปแล้ว หลังจากนั้นพระพุทธองค์จึงเดินทางไปพบกับปัญจวัคคีย์ ที่เคยติดตามพระพุทธองค์ในคราวบำเพ็ญทุกขกิริยา...และแสดงธรรม จนทั้งห้าคนเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธและติดตามพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ทรงมีแผนการณ์ในใจ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยพระองค์มองถึงกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ ซึ่งเปนแคว้นใหญ่มีความเข้มแข็ง หากสามารถ หยั่งรากลงฐานที่ แคว้นแห่งนี้ได้ ย่อมจะมีคุณูปการต่อพระศาสนาของพระองค์เปนอย่างยิ่ง พระองค์จึงออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังแคว้นมคธทันที ระหว่างนั้น "ยสะกุลบุตร" บุตรของนางสุชาดาาพร้อมบริวารอีกห้าสิบสี่คน ได้รับฟังการแสดงธรรมเกิดความเลื่อมใสจึงออกบวชทุกคน
เมื่อเดินทางมาถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม ก็ทรงได้้บวชกลุ่มภัททวัคคีย์ อีกสามสิบคน ต่อเมื่อพระองค์เดินทางมาจนใกล้กรุ่งราชคฤห์แล้ว ทรงดำริได้ว่า หากเดินทางเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยจำนวนคนเพียงกระหยิบมือเพียงเท่านี้ คงจะทำให้พระพุทธศาสนา เปนที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองได้ยากยิ่ง พระองค์จึงเดินทางไปยังสวนตาลหนุ่มอันเปนที่อยู่ของพวก "ชฏิล" ซึ่งเปนลัทธิบูชาไฟ อันเปนพระอาจารย์ของพระเจ้าพิมพ์พิสาร ที่สุดแล้ว พระพุทธองค์ได้แสดงธรรมแก่ชฏิล ผู้มีอาวุโสสุดก่อนคือ "อุรุเวลกัสสปะ" พร้อมศิษย์ทั้งห้าร้อยคน เมื่ออุรุเวลากัสสปะมีความศรัทธา เปลี่ยนศาสนาพร้อมกับศิษย์ทั้งห้าร้อย แล้วทิ้งอุปกรณ์บูชาไฟลอยไปตามน้ำ ชฏิลอีกสองคนคือ "นทีกัสสปะ"ผู้ซึ่งมีศิษย์สามร้อยและ"คยากัสสปะ"ผู้ซึ่งมีศิษย์สองร้อย เมื่อพบอุปกรณ์บูชาลอยน้ำไปจึงติดตามมาพบพระพุทธองค์ จึงมีโอกาสได้ฟังธรรม ทั้งหมดทั้งปวงจึงออกบวชเปนพระสาวกในพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ระหว่างนั้น "อุปติสสะ" และ "โกลิตะ" ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสจึงมาขอบวชพร้อมบริวารอีกสองร้อยห้าสิบคน
พระพุทธเจ้าจึง เดินทางเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในแคว้นมคธด้วยขบวนพระสาวกอันยิ่งใหญ่กว่าอาจารย์ทั้งปวงในละแวกนั่น ด้วยจำนวนสาวกถึง 1345 รูป
พระเจ้าพิมพิสารซึ่งเปนลูกศิษย์ของ อุรุเวลากัสสปะ เมื่อเห็นอาจารย์ของตนเปลี่ยนศาสนา จึงมาฟังธรรมของพระพุทธองค์ เกิดความศรัทธาและในที่สุดก็เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธ
วัดเวฬุวัน จึงกำเนิดขึ้นจากศรัทธาในพุทธศาสนาของพระเจ้าพิมพิสารนั่นเอง ในพรรษาแรกแห่งการถือกำเนิดพระพุทธศาสนานั่นเอง
ผมพาคณะของเราเดินเลาะบ่อน้ำในวัดเวฬุวันไปยังลานที่เชื่อว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในวันเพ็ญ เดือนสาม (วันมาฆปุรณมี) ซึ่งเปนวันที่มีเหตุการณ์สำคัญคือ พระสงฆ์ที่เปนเอหิกภิขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธองค์บวชให้ 1250 รูปมารวมกันโดยมิได้นัดหมาย พระพุทธองค์จึงแสดงธรรม ที่เรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเปน "หัวใจ" ของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ "ทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
แต่วันนี้ รอบๆลานฯ มีเตนท์ของคณะจัดงาน "วันมาฆบูชาโลก ครั้งที่ห้า" มีเสียงดังจากเครื่องขยายเสียงดังมาก ทั้งเสียงสวดมนต์ในสำเนียงต่างๆ เสียงการแสดงของเด็กๆจากหลายๆโรงเรียน ตีกันลั่นไปหมด ที่ลานก็มีคณะผู้แสวงบุญมาสวดมนต์อยู่อีกสองคณะใหญ่ ผมจึงพาคณะเล็กๆของเรามายังอีกด้านหนึ่งของสระน้ำ แล้วก็นั่งสวดมนต์บนสนามหญ้านั่นเอง (ไม่ได้เตรียมผ้าพาสติกรองนั่งมาครับ) ทั้งพระทั้งฆารวาส นั่งมันบนหญ้านั่นแหล่ะ หลังจากสวดมนต์เสร็จ คณะของเราก็ออกเดินทางกลับโรงแรม เพราะตอนนั้น เย็นแล้ว และอากาศก็เย็นลงเรื่อยๆ ทุกคนในคณะเปนห่วงคุณพ่อที่อายุเยอะแล้วจึงตัดสินใจกลับโรงแรมกันก่อ ระหว่างนั้นก็ไปส่งหลวงพี่ที่วัดไทยสิริราชคฤห์อีกครั้ง พร้อมลงไปสอบถาม เวลาที่จะมีพิธีเวียนเทียนที่นี่ ที่วัดแจ้งผมมาว่า หนึ่งทุ่มตรง เมื่อผมแจ้งให้คณะทราบ จึงตัดสินใจที่จะกลับไปทานข้าวเย็นก่อนแล้วจึงย้อนกลับมาเวียนเทียนอีกครั้ง ลาวินบอกว่า ได้เลย ไม่มีปัญหา แต่หัวก็ยังส่ายไปส่ายมาเหมือนเดิม
แต่หลังจากกินข้าวเย็นกันแล้ว ผมพาคณะกลับมาที่วัดตอนหนึ่งทุ่มปรากฏว่า หลวงพ่อเจ้าอาวาสยังไม่ได้กลับมาจากวัดเวฬุวัน ที่เราได้ยินเสียงสวดมนต์ดังกังวานไปทั่วพื้นที่่ใกล้เคียง ที่วัดแจ้งว่าจะเวยนเทียนตอนสองทุ่มครึ่ง แต่พวกเราสงสัยว่า สองทุ่มครึ่งก็ยังไม่ได้เวียนเทียนเป็นแน่ พวกเราจึงตัดสินใจกลับโรงแรมไปพักผ่อนกัน เพราะพรุ่งนี้เป็นอีกวันที่เราต้องเดินทางกันอย่างทรหดอดทน เพื่อเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมือง "กุสินารา" สถานที่เสด็จดับขันธ์ปริพนิพานของพระพุทธองค์ ที่ยังต้องผ่านอุปสรรคในการเดินทางอีกมากมาย รวมถึงต้องแวะเมือง "เวสาลี" อันเปนเมืองสำคัญในพุทธตำนานอีกแห่งหนึ่งบนเส้นทางของเรา
ค่ำคืน มาฆบูชา ในปีนี้ มีเสียงสวดมนต์จากคณะสงฆ์ที่แว่วล่องลอยมาจากวัดเวฬุวัน สถานที่แห่ง "โอวาทปาฏิโมกข์" คอยขับกล่อมให้ดำรงมั่นอยู่ในสติ เพื่อให้เกิดปัญญา ในการดำรงชีวิต โดยการชี้นำจาก "หัวใจ" พระพุทธศาสนา "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
ดวงตาแห่งธรรมในหัวใจ จึง ค่อยๆเปิดเผยอขึ้น เพื่อรับคำสอนจากพระพุทธองค์เข้ามาในจิตวิญญาณ...... ค่ำคืนแห่งความเหน็ดเหนื่อย จึงดุจดังชุ่มชื่นไปด้วยน้ำมนต์แห่งพระธรรมชำระล้างหมดไป จนมิเหลือความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอีกต่อไป
โปรดติดตามตอนต่อไป
แย้ปปี้ ไกด์บ้าพาเที่ยว
Powered by vBulletin® Version 4.2.3 Copyright © 2025 vBulletin Solutions, Inc. All rights reserved.